คนไทยรู้จัก “กามโรค” เมื่อไหร่ สมัยหนึ่งระบาดในหมู่คนรวย เพราะมีเมียมาก

เจ้าฟ้ากุ้งประชวรด้วยพระโรคใดกันแน่ กามโรค
ภาพวาดผู้ป่วยโรคซิฟิลิส (ภาพจาก หนังสือ "Syphilis" โดย Alfred Cooper (1895)

“กามโรค” คือกลุ่มโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ หากก่อนหน้านั้นในอดีต มันมีชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น อุปทม, ไส้ด้วน, ไส้ลาม, โรคสำหรับบุรุษ, สัญจรโรค ฯลฯ แล้วคนไทยรู้จักโรคนี้มาตั้งแต่เมื่อใด

สมัยอยุธยา

ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรับยาที่ใช้กันในกรุงศรีฯ และรวบรวมขึ้นสมัยอยุธยาบันทึกว่า

“…เอามะพร้าวไฟแต่ซีกข้างหัวนั้น 3 ซีกขูดค้นเปนกะทิจึงเอาลำโพงทั้งใบทั้งลูกตำกรองเอาแต่น้ำ เปลือกลูกมะขามขบแช่น้ำ เอาแต่เท่ากัน  หุงให้คงแต่น้ำมันมะพร้าวแล้วจึงเอาเปลือกสีเสียดเทศ ฝิ่น เกลือสินเธาว์ ดีงูเหลือม ปรุงลงในน้ำมันแก้ฝีเปื่อยฝีเน่า แลอุปทม ไส้ด้วน แก้ทุพโพน้ำเหลืองหาย…”  (เน้นคำโดยผู้เขียน)

กามโรค
ตำรับยาที่ใช้กันในกรุงศรีฯ

ราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงโรคดังกล่าวในบันทึกของเขาว่า “…กามโรคก็มีมิใช่น้อย แต่ไม่มีใครทราบว่าโรคชนิดนี้มีอยู่ตั้งแต่เดิมแล้ว หรือว่าเพิ่งมีแพร่เข้ามาเมื่อไม่นานนี้…” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

สมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

ปลายสมัยกรุงธนบุรี หลวงนายศักดิ์ (ต่อมาคือ พระยามหานุภาพ) หนึ่งในคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนใน พ.ศ. 2324 กล่าวถึงหลวงราไชย หนึ่งในคณะ ซึ่งระหว่างอยู่เมืองกวางตุ้งได้ไปเที่ยวโสเภณีจนติดโรคดังกล่าว ดังความในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ตอนหนึ่งว่า “…จนโรคันปันทบข้างอุปทม เสนหาส่าลมขึ้นเต็มตัว…” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

บาทหลวงปาลเลกัวซ์ บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ คุกสยาม กามโรค
ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ [Jean-Baptiste Pallegoix] หรือสังฆราช ปาลเลกัวซ์ ผู้บันทึกเกี่ยวกับสยามสมัยรัชกาลที่ 4
บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เมื่อ พ.ศ. 2372 ในยุครัชกาลที่ 3 กล่าวถึงโรคที่พบในสยามขณะนั้นตอนหนึ่งว่า “…ดูเหมือนกามโรคจะระบาดมากในหมู่คนมั่งมี ก็เป็นการลงโทษอันเหมาะสมแล้ว สำหรับคนที่มีเมียมากและหมกมุ่นในกามคุณ…”  (เน้นคำโดยผู้เขียน)

เมื่อการแพทย์ตะวันตกเข้ามาในสังคมสยาม ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวจึงเปลี่ยนไป เช่น สาเหตุของโรคที่เกิดจากการร่วมประเวณี, การป้องกันและรักษาโรค ฯลฯ ดังที่ปรากฏใน “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” ที่พระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) ตอนหนึ่งว่า

“อุปะทมเกิดกาสตรีอันเปนคนกาฬกิณี สำส่อนด้วยน้ำกิเลศเปนอาจิณ ครั้นชายไปเสพก็บังเกิดโรคสสมุติว่าเปนอุปะทม…” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

ท่าทีทางการไทย

ต่อมาทางการก็ออกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ที่มีมุมมองว่า หญิงนครโสเภณี (หญิงขายบริการ) คือ “พาหะ” นำเชื้อโรคมาสู่ผู้ชาย ดังความตอนหนึ่งว่า

สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)
ภาพประกอบเนื้อหา – สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

“…ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตน อย่างที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกัน ตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล…หญิงบางคนป่วยเปนโรค ซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไป จนถึงเปนอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เปนอันมาก…” 

ทศวรรษ 2460 เริ่มจำแนกและระบุชื่อของโรคดังกล่าวตามหลักการแพทย์ตะวันตก แบ่งเป็น โรคซิฟิลิสและโรคหนองใน ไม่เรียกรวมๆ ว่า “โรคสำหรับบุรุษ” หรือ “อุปทม” อย่างในอดีต ดังแถลงการณ์สาธารณสุขพิเศษ พ.ศ. 2469 ว่า “…กามโรค เป็นนามรวมของโรคสิฟิลิสและหนองใน เพราะทั้งสองโรคนี้ย่อมเกิดขึ้นนะระหว่างการร่วมประเวณี…”

เมื่อ “โสเภณี” เป็นอาชีพเก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่ง “กามโรค” ซึ่งเป็นผลข้างเคียงหนึ่งจากอาชีพนี้ ก็น่าจะเป็นโรคเก่าแก่เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ระชา ภุชชงค์. กรมโรคในสังคมไทย, กรมศิลปากร พ.ศ. 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568