ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน “รัฐสภาไทย” มีมาแล้ว 3 แห่งด้วยกัน ใช้ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475
“รัฐสภาไทย” แห่งแรก
การประชุมสภาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 นั้น ใช้ห้องโถงชั้นบนของ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” เป็นที่ประชุม มีผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน 70 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะราษฎร มีมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” นั้นเป็นอาคารรัฐสภาแห่งแรก ซึ่งรัชกาลที่ 7 พระราชทานให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2475 จนถึงปี 2517

ขยับขยาย
ต่อมาจำนวนสมาชิกสภาฯ เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากรไทยที่มีจำนวนมากขึ้น รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานที่ดินทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเป็นของ “หน่วยรถถัง กรมตำรวจ” เพื่อจัดสร้างที่ทำการใหม่ ซึ่งเป็น “รัฐสภา” แห่งที่ 2

อาคารแห่งใหม่นี้ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2513 แล้วเสร็จในปี 2517 ด้วยการออกแบบของนายพล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการวาดแบบจากอาคารรัฐสภาบราซิล ใช้ประชุมสภาฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2517
ที่ทำการปัจจุบัน
ส่วน “สัปปายะสภาสถาน” ซึ่งหมายถึง “สภาแห่งความสงบร่มเย็นและปัญญา” ที่ทำการแห่งที่ 3 นั้น เกิดขึ้นจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรของประเทศ และจำนวนข้าราชการผู้ทำหน้าที่ในสภาฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น
รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จึงมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพฯ
ภายใต้การออกแบบของนายธีรพล นิยม และคณะ จากบริษัทสงบ 1051 ซึ่งชนะการประกวดแบบ ในปี 2552 และมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นับเป็นอาคารรัฐสภาแห่งที่ 3 ของประเทศ
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาและอำนาจ “สว.” อังกฤษ-อเมริกัน เลือกตั้งอำนาจมาก-แต่งตั้งอำนาจน้อย?
- “อรพิน ไชยกาล” จากครูต่างจังหวัด สู่ ส.ส. หญิงคนแรกในการเมืองไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล. “อาคารรัฐสภาไทย จากพระที่นั่งอนันตสมาคม…สู่สัปปายะสภาสถาน” ใน, https://parliamentmuseum.go.th
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร <https://old.parliament.go.th.>
เผยแผร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2568