ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หอคอย พระราชวังกรุงมัณฑะเลย์ ที่พระนางศุภยาลัตเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรกองทัพอังกฤษที่กำลังเข้ามายึดครองกรุงมัณฑะเลย์ ในเหตุการณ์พม่าเสียเมืองปี 1885
ในห้วงเวลาท้าย ๆ ของเหตุการณ์ “พม่าเสียเมือง” ฉากที่เป็นที่จดจำกันมากฉากหนึ่งคือตอนที่พระนางศุภยาลัต พระอัครมเหสีในพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์พม่า เสด็จขึ้นไปบนหอคอย ในพระราชวังกรุงมัณฑะเลย์ เพื่อทอดพระเนตรกองทัพอังกฤษที่กำลังยาตราเข้ายึดเมืองหลวงของพม่า นำไปสู่การสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้ราชวงศ์คองบอง
หอคอยแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังกรุงมัณฑะเลย์ สร้างขึ้นเพื่อใช้สังเกตการณ์โดยรอบของเมือง ลักษณะเป็นหอสูงทรงกลม มีบันไดเวียนอยู่ด้านนอกของหอคอย ชั้นบนสุดมีอาคารทรงปราสาทซ้อนชั้นอย่างพม่า หรือที่เรียกว่า ปยะตะ

หอคอยแทบจะตั้งอยู่กึ่งกลางของกรุงมัณฑะเลย์ในแผนผังสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เมื่ออยู่บนหอคอยจึงสามารถสังเกตเห็นเมืองได้รอบด้าน มองได้ไกลถึงเทือกเขาฉานทางด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านทิศใต้ก็มองเห็นกำแพงเมือง อาคารบ้านเรือนชุมชนหนาแน่น เรื่อยไปจนถึงแม่น้ำอิรวดี ยาวสุดลูกหูลูกตาหลายกิโลเมตร
ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพม่า” (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) พ.ศ. 2489) พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเคยเสด็จไปทอดพระเนตรพระราชวังกรุงมัณฑะเลย์ ทรงกล่าวถึงหอคอยแห่งนี้ว่า
“ที่พื้นวังริมเขื่อนที่ด้านใต้ มีหอสูงสัณฐานกลมสร้างด้วยไม้ยอดเป็นปราสาท ทำทางขึ้นบันไดเวียนอยู่ข้างนอกหลังหนึ่ง ว่าเป็นของพระเจ้าสีป่อสร้างสำหรับขึ้นทอดพระเนตรพระนคร”
สำหรับตำนานเรื่องเล่า (หรือเรื่องจริง?) ที่อยู่คู่กับหอคอยนี้คือเป็นสถานที่ที่พระนางศุภยาลัตเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรกองทัพอังกฤษ เมื่อทรงทราบแก่พระทัยแน่แล้วว่าพม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ก็ทรงรู้สึกโศกเศร้าอาลัยที่ต้องเสียเมืองแก่พวกฝรั่ง โดยเหตุกาณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 1885 (พ.ศ. 2428 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5)
ในหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง The King in Exile : The Fall of the Royal Family of Burma” (มติชน, 2560) บรรยายถึงเหตุการณ์ตอนนั้นเอาไว้ว่า
“บนหอคอยมีพนักงานประจำการณ์ตลอดเวลา และเมื่อพระราชินีเสด็จไปถึง พระนางเห็นเขากำลังหันหน้ามองไปทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ ทหารยามทูลพระราชินีว่า เขาสามารถเห็นกองเรืออังกฤษบนแม่น้ำใกล้ชายฝั่งของกรุงมัณฑะเลย์จากกล้องส่องทางไกล ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เขาตะโกนว่าทหารจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนยกพลขึ้นบก ตั้งแถว และเคลื่อนพลมุ่งหน้าตรงมายังพระราชวัง
เมื่อได้ยินเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ทรงครรภ์อยู่ พระราชินีทรงไต่ช้าๆ ขึ้นบันไดเวียนสูงชันของหอคอยเพื่อให้ประจักษ์แก่สายตาตนเอง ภาพที่ทหารอังกฤษหลายพันนายเดินแถวมุ่งหน้ามายังพระราชวังดูเหมือนจะเป็นนาทีที่พระนางได้เผชิญความจริงของชีวิต”
จากนั้นหนังสืออธิบายต่อไปว่า พระนางศุภยาลัตจึงค่อยๆ ไต่บันไดเวียนกลับลงมา จากนั้นก็ทรุดพระวรกายลงบนพื้น พระนางเริ่มร่ำไห้ สะอึกสะอื้น คุกพระชานุ (เข่า) ลง และตบพระอุระ (อก) พลางตะโกนว่า “เราเอง-เราผู้เดียว เราเป็นราชินีที่นำความหายนะมาสู่องค์ราชา พระสวามีของเรา และพสกนิกรของเรา”

ในขณะที่หนังสือ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน Thibaw’s queen” (มติชน, 2560) ก็บรรยายเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันคือ พระนางศุภยาลัตเสด็จมายังหอคอยแห่งนี้เพื่อทรงติดตามเหตุการณ์ แต่ว่าพระนางไม่ได้เสด็จขึ้นไปด้านบนหอคอยเพื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง แต่จะทรงคอยไต่ถามทหารยามเป็นระยะๆ ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์อะไรอยู่ภายนอกกำแพงเมือง
จนเมื่อทหารยามแจ้งว่า กองทัพอังกฤษกำลังตั้งแถวเตรียมเคลื่อนพลมุ่งตรงมาสู่พระราชวัง พระนางศุภยาลัตก็ทรงตระหนักได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจบสิ้นลง แม้ก่อนหน้านี้พระนางจะยังทรงมีความหวังอยู่บ้างที่จะรอดพ้นจากภัยนี้ไปได้ แต่นั่นก็ไม่เกิดขึ้นจริง
“แล้วจู่ๆ พระนางก็ทรุดพระวรกาย หมอบซบพระพักตร์ลงกับพื้น ทรงกันแสง พระเกศารุ่ยร่าย น้ำพระเนตรอาบพระพักตร์…พระนางหยัดตัวขึ้นมาอยู่ในท่าคุกเข่า ยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ร้องฟูมฟายเสียงดังว่าพระนางคนเดียวที่นำความหายนะมาสู่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน ‘ข้า-ข้าคนเดียวที่นำความพินาศมาสู่พระเจ้าอยู่หัว พระสวามีของข้า และราษฎรของข้า เพราะข้า-ข้าคนเดียวเท่านั้น’ จากนั้นทรงทุ่มพระองค์ลงไปบนพื้นอีกครั้งและทุบพื้น พระวรกายสั่นเทาด้วยแรงสะอื้น”
ขณะที่สำนวนงานเขียนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือ “พม่าเสียเมือง” (ดอกหญ้า 2000, 2545) บรรยายไว้ว่า
“เมื่อพระนางศุภยลัตทอดพระเนตรแม่น้ำอิรวดีจากยอดหอคอยนั้น ภาพที่ปรากฏขึ้นแก่พระเนตรก็คือเรือรบและแพขนานของอังกฤษกำลังแล่นเข้าเทียบท่าหน้ากรุงมัณฑเล ความจริงก็ปรากฏขึ้นอย่างไม่มีที่สงสัยได้ต่อไป พระนางศุภยลัตหันพระพักตร์กลับและเสด็จลงมาถึงพื้นแผ่นดินแล้ว ความจริงที่เข้ามาทำลายโมหะแห่งพระนางศุภยลัตก็ท่วมท้นพระราชหฤทัย ทรงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง แล้วก็ทิ้งทอดพระองค์ลงกับพื้นดินและทรงกันแสงทุบพระอุระอยู่ ณ ที่นั้น พร้อมกับทรงปริเวทนาการว่าพระองค์เองเป็นต้นเหตุที่นำความพินาศล่มจมมาสู่พระสวามีและกรุงอังวะ”
ณ หอคอย พระราชวังกรุงมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 1885 จึงเป็นอีกฉากสำคัญเมื่อตอน “พม่าเสียเมือง” ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ถึงกับบอกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์เพียงครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระนางศุภยาลัตทรงแสดงพระอาการโทมนัสให้ปรากฏแก่สายตาผู้อื่น
อ่านเพิ่มเติม :
- การสร้างเมือง ‘มัณฑะเลย์’ กับตำนานความสยดสยองของธรรมเนียมพม่า
- เปิดจดหมายตัดพ้อของพระนางศุภยาลัต ถึงความรักวันวาน ก่อนพระเจ้าธีบอครองบัลลังก์พม่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2568