“เสด็จเลียบพระนคร” ในความหมายแสดงแสนยานุภาพ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งลำทรง ในกระบวนพยุหยาตราโดยทางชลมารคเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อเอ่ยถึงการเสด็จเลียบพระนคร ไม่ว่าด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ล้วนเป็นการแสดงแสนยานุภาพในกองทัพ ทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือ ของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณนั่นเอง

อย่างไรก็ดีมีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ การจัดริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารคนั้น ถ้าพิจารณาถึงกระบวนทัพหลวง ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์ประทับบนพระที่นั่งราเชนทรยาน หรือบางรัชกาลประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองนั้น ลวดลายที่ประดับบนฐานแต่ละชั้นของพระราชยาน มีทั้งลายเทพพนมและครุฑพนม

ลวดลายเหล่านี้มีความหมายที่แสดงถึงว่า พระราชยานที่ประทับคือ โลกสวรรค์ที่เขาพระสุเมรุของพระอินทร์หรือเขาที่ไกลาสขององค์พระศิวะรอบๆ สวรรค์มีเทวดาและครุฑ ซึ่งเป็นเทพบริวารร่วมกันมาชื่นชมพระบารมีขององค์สมมติเทพหรือทิพยเทวาวตาร ซึ่งคือองค์พระมหากษัตริย์ที่ประทับบนพระราชยานนั้นนั่นเอง

และถ้าจะให้มีความสำคัญที่รูปครุฑจะหมายความว่าองค์พระมหากษัตริย์นั้นคือองค์พระวิษณุซึ่งมีครุฑเป็นพาหนะมาคอยรับใช้เมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ

เครื่องสูงต่างๆ ที่เข้ากระบวนแห่ห้อมล้อมพระราชยานไม่ว่าจะเป็นบังสูริย์ บังแทรก พัดโบก จามร พุ่มดอกไม้ทอง พุ่มดอกไม้เงิน ตลอดจนเครื่องประดับโคมต่างๆ ล้วนกล่าวว่าเป็นการจำลองภาพของริ้วขบวนขององค์เทวะ มาใช้กับองค์สมมติเทพในมนุษย์โลกนั่นเอง

อนึ่งริ้วขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือก็พบว่ากระบวนหรือเรือนั้นเรือแต่ละลำจะประดิษฐ์โขนเรือเป็นรูปสัตว์ เช่น สัตว์ที่มีความว่องไว สัตว์ในเทพนิยาย และสัตว์จากเรื่องรามายณะ หรือ รามเกียรติ์ เช่น โขนเรือ รูปเสือ รูปเลียงผา รูปนกอินทรี รูปมังกร รูปลิง รูปครุฑ รูปหงส์ และรูปนาค ตลอดจนพวกอมนุษย์ เช่น อสูร

บรรดาเรือที่อยู่รอบๆ เรือพระที่นั่งลำทรง หรือในกระบวนทัพหลวงจะพบว่าเป็นเรือที่มีโขนเป็นรูปมนุษย์ที่เป็นเทพบริวาร หรือเป็นพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ อาทิ หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม พระยานาคเจ็ดเศียรหรืออนันตนาคราชเป็นที่ประทับของพระวิษณุและครุฑเป็นพาหนะของพระวิษณุด้วยเช่นกัน

ส่วนโขนเรือรูปลิงจะมีรูปหนุมานสุครีพ พาลี มาจากเรื่องรามเกียรติ์ลิงที่กล่าวล้วนเป็นทหารเอกที่สำคัญของพระรามซึ่งทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ริ้วกระบวนเรือนี้จึงเป็นริ้วกระบวนที่มาห้อมล้อมองค์สมมติเทพที่ทรงเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระวิษณุ ตามคติความเชื่อดั้งเดิมในราชสำนัก


บางส่วนจาก “รายงานพิเศษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”. โดย ณัฏฐภัทร จันทวิช. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ.2562