เจ้านายที่ทรงถูกสำเร็จโทษ 28 พระองค์ ยุคอยุธยา-รัตนโกสินทร์

สำเร็จโทษ ท่อนจันทน์ กฎมณเทียรบาล กรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้านายที่ทรงถูกสำเร็จโทษ
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

ย้อนดูเจ้านายที่ทรงถูกสำเร็จโทษ 28 พระองค์สำคัญ ในยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์

การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินแต่ละรัชกาลในอดีตมีทั้งแบบสงบราบรื่นด้วยการสืบราชสมบัติอันปราศจากการเสียเลือดเนื้อ และแบบแก่งแย่งราชบัลลังก์ ที่บางครั้งรุนแรงถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการผลัดแผ่นดิน 33 ครั้ง เกิดกรณีการแก่งแย่งราชบัลลังก์ เช่น สมเด็จพระราเมศวร ทรงสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลัน, สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงสำเร็จโทษสมเด็จพระรัษฎาธิราช, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสำเร็จโทษสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็นการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ ฐานอำนาจ และขุมกำลังทางทหารไม่อาจต่อกรกับผู้ช่วงชิงที่ทรงอำนาจและเชี่ยวชาญการเมืองมากกว่า

แต่กรณีการแก่งแย่งราชบัลลังก์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมอ่อนข้อ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองขนาดย่อมในพระนคร จนทำให้มีคนล้มตายเป็นอันมาก ก็คือกรณีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา กรณีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ เป็นต้น

สำหรับเจ้านายที่ทรงถูกสำเร็จโทษ 28 พระองค์สำคัญ ในยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้ 

ludea ยูเดีย

สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระราเมศวร 

สมเด็จพระรัษฎาธิราช พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช 

สมเด็จพระยอดฟ้า พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราช – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ ขุนวรวงศาธิราช และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ 

ขุนวรวงศาธิราช และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ 

สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

พระพันปีศรีศิลป์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และพระอนุชาในสมเด็จพระเชษฐาธิราช – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช

สมเด็จพระเชษฐาธิราช และสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ และพระองค์ทอง พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจ้าฟ้าอภัยทศ พระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ)

เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ)

พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ

เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เดิมต้องโทษประหารด้วยท่อนจันทน์ แต่ลดเหลือโทษโบย 180 ที จนสิ้นพระชนม์

กรมหมื่นจิตรสุนทร, กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

บางกอก สมัย รัชกาลที่ 4 ฝรั่งซื้อที่ดิน
สภาพทิวทัศน์บางกอกสมัยรัชกาลที่ 4

กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ รัชกาลที่ 1

พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัต พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ รัชกาลที่ 1

กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ รัชกาลที่ 3

กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 – ผู้สั่งสำเร็จโทษคือ รัชกาลที่ 3

เจ้านายที่ทรงถูกสำเร็จโทษทั้ง 28 พระองค์นี้ นับเป็นกรณีใหญ่ทางการเมืองแห่งยุคสมัย ยังมีเจ้านายอีกหลายพระองค์ที่ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยการประหารตัดพระเศียร และทุบด้วยท่อนจันทน์

สำเร็จโทษ ท่อนจันทน์ กฎมณเฑียรบาล
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

“การสืบราชสมบัติและการปราบดาภิเษก : ตลุยเลือดขึ้นบัลลังก์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 24 : ฉบับที่ 9. (กรกฎาคม, 2546)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2568