
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บาทหลวงต่างชาติบันทึกสภาพ “คุกสยาม” เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน “นักโทษนอนเรียงเป็นตับ แล้วใช้โซ่ยาวร้อยห่วงเหล็กที่ขาล่ามไปผูกไว้กับเสา”
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาสยามด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ทั้ง บาทหลวง มิชชันนารี พ่อค้า ฯลฯ
หนึ่งในนั้นคือ พระสังฆราชฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix) หรือ “บาทหลวงปาลเลกัวซ์” ชาวฝรั่งเศส
ท่านเดินทางมาสยามเมื่อ พ.ศ. 2372 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ดำรงตำแหน่งมุขนายกมิสซัง เดอ มาลโลส์ เจ้าคณะเขตประจำสยาม และพำนักอยู่ในสยามรวมทั้งสิ้น 24 ปี ก่อนเดินทางกลับฝรั่งเศสในราว พ.ศ. 2396 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
ระหว่างอยู่ในสยาม ท่านได้พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ สภาพสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวสยาม เมื่อกลับฝรั่งเศสแล้วก็ได้รวบรวมเขียนเป็นบันทึกขึ้นมาในชื่อ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ซึ่งเรื่องที่ท่านเล่าก็ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง “คุก”
“คุกสยาม” เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน สภาพเป็นอย่างไร?
ย้อนไปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การลงโทษผู้กระทำความผิดมักทำในที่สาธารณะ และมักทำด้วยความรุนแรง เพื่อไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
บาทหลวงปาลเลกัวซ์ เล่าเรื่องนี้ไว้ใน “เล่าเรื่องกรุงสยาม” พูดถึงบทลงโทษในความผิดขั้นรุนแรง คือ การประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ หรือความผิดฐานกบฏ ทั้งเมื่อเสียชีวิตแล้วซากศพก็ยังถูกนำไปทารุณต่อ
“เจ้าพนักงานจะจัดการนำตัวไปประหารชีวิตเสียที่ตำบลหนึ่งเรียกว่า สำเหร่ ทางตอนใต้ของนคร ณ ที่นั้นเขาจะตัดศีรษะนักโทษเสียด้วยดาบ หรือไม่ก็เอามัดเข้าไว้กับเสาแล้วใช้หอกแทงจนตาย
หลังจากนั้นศพจะถูกสวนทวารหนักเสียบเอาขึ้นหยั่งตั้งไว้เป็นเหยื่อแก่แร้งกา ถ้าคนกบฏเป็นเชื้อพระวงศ์ก็จะไม่ทำให้เลือดตกยางออก แต่จะนำเข้ากระสอบหนังเย็บปากเอาก้อนหินใหญ่ใส่ลงไปด้วยแล้วนำไปถ่วงกลางแม่น้ำเสียทั้งเป็น”

ส่วนคุกที่ใช้คุมขังนักโทษ นอกจากจะเป็นที่จองจำอิสรภาพ บาทหลวงปาลเลกัวซ์ยังบอกอีกว่า มีความน่ากลัวอย่างยิ่ง
“กล่าวกันว่าเรือนจำหรือคุกนั้นเป็นสถานที่อันน่ากลัวมาก เป็นห้องขังมืดๆ ซึ่งมีนักโทษแออัดกันอยู่เป็นจำนวนร้อยๆ เคราะห์ดีที่ใช้อาศัยหลับนอนแต่เฉพาะกลางคืนเท่านั้น ส่วนตอนกลางวันถูกจ่ายไปทำงาน เช่น เลื่อยไม้ ขนอิฐขนทราย ทำทางหรือทำงานหนักอย่างอื่นๆ และเขาให้อาหารเพียงข้าวนิดเกลือหน่อยเท่านั้น
พอตกค่ำก็พากันเข้าคุก เขาให้นักโทษนอนเรียงเป็นตับ แล้วใช้โซ่ยาวร้อยห่วงเหล็กที่ขาล่ามไปผูกไว้กับเสา ใส่กุญแจหอยโข่งดอกใหญ่ การถูกล่ามไว้ดังนี้ทำให้พลิกตัวไม่ได้ ยามมีทุกข์ก็ต้องนอนถ่ายหนักถ่ายเบาและจมอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งรุ่งเช้า
ระลึกถึงว่าคนเราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในบรรยากาศอันหมักหมมโสโครกและมีความร้อนตั้ง ๓๐-๔๐ องศาเช่นนั้นแล้ว ยังซ้ำแถมการทะเลาะทุ่มเถียง การด่าทอแช่งชักหักกระดูก คำหยาบโลน และการปฏิบัติอย่างทารุณของผู้คุมมีศิลปะในการทรมานนักโทษเพื่อรีดทรัพย์เข้าด้วยอีกเล่า เหล่านี้คงเป็นเพียงส่วนน้อยที่เราจะพิจารณาเห็นสภาพของคุกได้”
นักโทษรายหนึ่งที่ถูกคุมขังราว 20 วัน ได้บรรยายความรู้สึกให้บาทหลวงปาลเลกัวซ์ฟังว่า “หลวงพ่อครับ ผมไม่เชื่อเลยว่านรกนั้นจะร้ายไปยิ่งกว่าคุก”
นั่นคือสภาพ “คุกสยาม” ในยุครัชกาลที่ 3 หรืออาจต่อเนื่องถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้รับรู้ ต่อมาเมื่อสยามติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น ก็มีการปรับปรุงและพัฒนาที่คุมขังให้มีสภาพดีขึ้นจากเดิม
อ่านเพิ่มเติม :
- สำรวจวัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษประหารชีวิตพระเจ้าแผ่นดิน-เชื้อพระวงศ์
- ประหาร “7 ชั่วโคตร” เรียงตระกูลอย่างไร ใครโดนบ้าง
- “อ้ายอ่วม อกโรย” คดีประหารนักโทษสุดโหดสมัย ร.5 เอาขวานตัดตัวขาด 2 ท่อน!
- ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์. รัฐสยดสยอง. กรุงเทพฯ: มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568