พืชพรรณย้ายถิ่นปลูก ได้ชื่อใหม่ ได้รับความสนใจ

กล้วยในเมืองไทยปัจจุบันมีอยู่กว่า ๒๐๐ พันธุ์ ส่วนหนึ่งนำมาจากต่างประเทศ

ทุกวันนี้ แทบไม่มีพืชชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดขึ้นแล้วเจริญเติบโตอยู่เฉพาะที่แห่งนั้น

แต่ที่พบเห็นอยู่ มีการเคลื่อนย้ายไปมา บางครั้งพบว่าถิ่นที่อยู่ช่วงหลังๆ เหมาะสมกว่าแหล่งเดิม จนคนท้องถิ่นทึกทักเอาว่าเป็นพืชประจำถิ่นนั้นๆ

การเคลื่อนย้ายพืชนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน

เริ่มจากคนอพยพโยกย้าย…สมัยเก่าก่อนชุมชนที่อยู่กันนานๆ อาจจะเกิดโรคระบาดไม่มีทางรักษา ก็ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ พวกเขาไม่ลืมติดเมล็ดพันธุ์พืชไปด้วย เมื่อถึงถิ่นที่อยู่ใหม่ พบดินดำน้ำดี ก็นำสิ่งที่มีอยู่ออกมาปลูกเพื่อยังชีพ พืชยุคก่อนที่จำเป็นเห็นจะได้แก่ ข้าว สมุนไพร พืชผักต่างๆ

ลุงศิลป์ ศัลยพงษ์ เกษตรกรคนเก่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ลุงมีพืชเด่นๆ มากมาย แม้แต่ผักตบชวาก็ยังแปลกและพิเศษกว่าคนอื่นเขา เคยแวะเวียนไปคุยกับลุงบ่อย มีอยู่ครั้งหนึ่งลุงชี้ไปที่กอไผ่แล้วอธิบายว่า ไผ่กอนี้ได้มาจากชาวเขาจังหวัดตาก เดิมชาวเขาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมของเขื่อนภูมิพล เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ จะมีการเก็บกักน้ำ พวกเขาต้องไปอยู่ที่ใหม่ สิ่งที่นำติดตัวไปมีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือพันธุ์ไผ่และหมา แสดงว่าไผ่ที่ว่าพิเศษจริงๆ

การย้ายถิ่นฐานพร้อมทั้งปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ บ้าน นอกจากใช้ประโยชน์ในการบริโภคแล้ว ชาวบ้านอาจจะถือโอกาสใช้ต้นไม้เป็นหลักฐาน โต้แย้งกับทางราชการที่มาออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยู่เดิม โดยให้ดูที่ต้นมะพร้าว ประมาณว่า ความสูงขนาดนั้นขนาดนี้อายุ ๔๐-๕๐ ปี

รายได้คือแรงจูงใจ…เดิมทียางพาราปลูกกันได้ดีเฉพาะภาคใต้ของประเทศไทย จากนั้นจึงขยับสู่ภาคตะวันออก แล้วขยายไปยังภาคกลาง อีสาน และเหนือ ในประเทศไทยทุกวันนี้ ที่ไม่ปลูกยางพารามีไม่เกิน ๗ จังหวัด

สมุทรปราการ ที่ใครๆ หลายคนเข้าใจว่าไม่ปลูกยางพารา จริงๆ แล้วมีปลูกกว่า ๒๐ ไร่ เป็นแปลงใหญ่ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกมาอย่างต่อเนื่อง กว่าที่จะย้ายถิ่นฐานปลูกได้ เขามีงานทดลองและวิจัยกันอยู่นาน อย่างภาคอีสาน ใครจะเชื่อว่าสามารถปลูกได้

มูลเหตุที่ทำให้เกิดการทดลอง เพราะรายได้จากการขายผลผลิตนั่นเอง

นโยบายของรัฐก็มีส่วนสำคัญ…สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยางพาราแพร่กระจายไปยังภาคอีสานอย่างรวดเร็ว คือนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราของรัฐบาล จำนวน ๑ ล้านไร่

นโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อเป็นที่ ๑ ของการส่งออก ก็มีส่วนทำให้นักวิจัยหาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร จากนั้นก็เผยแพร่กันไปมา ตัวอย่างพันธุ์ข้าว “ขาวดอกมะลิ 105” คัดเลือกและพัฒนาโดย คุณสุนทร สีหะเนิน อดีตข้าราชการกรมการข้าว เพราะจำหน่ายได้ราคาดี รวมทั้งส่งออกต่างประเทศได้ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เดิมมีถิ่นกำเนิดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปมีชื่อเสียงอยู่ทางภาคอีสาน และภาคเหนือบางจังหวัด

ธรรมชาติช่วยได้…ไม่ต้องย้อนไปถึงอดีต แต่ปัจจุบันยังพบเห็นอยู่

กรณีของพริกที่ขึ้นอยู่ตามสวน ตามที่รกร้าง หัวไร่ปลายนา ยามใดที่พริกมีผลผลิต ก็จะมีนกมากิน แล้วบินไปขี้ยังแหล่งใหม่ อาจจะไม่ไกลจากแหล่งเดิมนัก เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เมล็ดจะงอกเป็นต้นใหม่ ออกดอกให้ผลเต็มต้น ชาวบ้านถือปรากฏการณ์นี้เก็บพริกมาบริโภคโดยไม่ต้องปลูก เรื่องราวทำนองนี้ยังพบเห็นอยู่ในหลายท้องที่

มะพร้าวขึ้นอยู่ริมน้ำ เมื่อผลแก่ร่วงหล่นลอยไปตามน้ำ มีโอกาสไปติดอยู่กับผืนดิน และงอกได้ต้นใหม่ เพราะมีคุณสมบัติลอยน้ำได้ มะพร้าวสามารถเดินทางไกลข้ามจังหวัด หรืออาจจะลอยข้ามประเทศ

การย้ายถิ่นฐานของพืชพรรณ อาจจะย้ายจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง หรือจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง

มะพร้าวลอยน้ำและไปได้ไกล

พืชพรรณทรงคุณค่าของไทยหลายๆ ชนิด พบว่าย้ายนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ตัวอย่างลิ้นจี่ ชาวจีนมาค้าขายกับไทย เขามาทางเรือ เมื่อมาแวะเสียภาษีแถวๆ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็นำลิ้นจี่ออกมากินแล้วทิ้งเมล็ดไว้ จากนั้นเมล็ดงอกได้ต้นใหม่ มีลูกมีหลานเต็มไปหมด แทนที่จะปลูกอยู่แถวถนนนางลิ้นจี่ในปัจจุบัน ก็ขยายไปยังนครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย

นักวิชาการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรที่ไปดูงานต่างประเทศ มักนำของดีเข้ามาโดยถูกต้องและแอบเข้ามา

เมื่อ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว คนไทยไปดูงานประเทศออสเตรเลีย ไปพบผลมหัศจรรย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายมะหวดของไทย ผลมหัศจรรย์ที่ว่า หากกินเข้าไปก่อนแล้วตามด้วยผลไม้รสเปรี้ยว อย่างมะม่วงเปรี้ยว จะมีความรู้สึกว่ามะม่วงไม่เปรี้ยวแต่อย่างใด

คุณวารินทร์ ชิตะปัญญา เกษตรกรที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง คือผู้ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์ต้นมหัศจรรย์เผยแพร่ รวมทั้งมะม่วงผลยักษ์ใหญ่ นามว่า อาร์ทูอีทู จากประเทศออสเตรเลีย คุณวารินทร์ก็ผลิตจำหน่ายไปยังต่างประเทศได้ดี

การย้ายถิ่นปลูกของพืชหลายชนิดได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น พืชบางชนิดมีคุณสมบัติดีเด่นกว่าถิ่นเดิม บางชนิดอาจจะได้ชื่อพันธุ์ใหม่

ใต้สุดของประเทศไทย คือจังหวัดยะลา มีชาวจีนเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ โดยนำผลส้มติดตัวมาด้วย หลังจากนั้นจึงเพาะเมล็ด เมื่อส้มมีผลผลิต รสชาติดีมาก ทำให้คนสนใจปลูกกันอย่างแพร่หลาย พร้อมตั้งชื่อว่า “โชกุน” ต่อมาท้องถิ่นอยากให้ส้มสร้างชื่อเสียงให้กับทางจังหวัด จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “เพชรยะลา” แต่คนทั่วไปคุ้นเคยกับชื่อโชกุนมากกว่า ส้มโชกุนรสชาติหวานเข้มข้น ผิวผลไม่เข้มเหมือนส้มทางเหนือ เมื่อครั้งส้มจังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียง มีคนนำส้มโชกุนจากยะลาไปปลูก แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “สายน้ำผึ้ง” แต่สาเหตุที่ผิวผลสายน้ำผึ้งสีเหลืองเข้มกว่าโชกุน เป็นเพราะอากาศเย็นกว่านั่นเอง

ส้มเขียวหวานบางมด รสชาติดีมาก เพราะแหล่งปลูกเป็นดินเหนียว อีกทั้งดินลักจืดลักเค็ม เมื่อพื้นที่ปลูกมีน้อยลง เกษตรกรย้ายไปปลูกที่ทุ่งหลวงรังสิต จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดกำแพงเพชร เกษตรกรปลูกได้รสชาติดีพอสมควร แต่ก็สู้กับโรคกรีนนิ่งไม่ไหว พื้นที่จึงหดหายลง จากกว่า ๒ แสนไร่ มีเหลืออยู่น้อยเต็มที ส้มเขียวหวานบางมดถูกนำไปปลูกที่แพร่และน่าน เนื่องจากอากาศหนาว ช่วยขับให้ผิวส้มเหลืองสวย กลิ่นหอมแรง เรียกกันว่า “ส้มสีทอง”

ไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน มีคุณสมบัติให้หน่อดกมาก อาจจะเพราะเหตุผลทางธุรกิจ หรือความเข้าใจผิดบางอย่าง ไผ่ชนิดนี้มีหลายชื่อมาก ที่จังหวัดกาญจนบุรีเรียกไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่กิมซุ่ง ที่ภาคตะวันออกเรียกไผ่จีนเขียวเขาสมิง จังหวัดนครสวรรค์เรียกไผ่อินโดจีน

มะนาวนิ้วมือ มาจากออสเตรเลีย

การย้ายถิ่นของบางพืชสามารถสร้างงานทำเงินให้กับผู้ปลูกได้ดี เช่น ลำไย เดิมปลูกออกดอกติดผลได้ดีในภาคเหนือ เนื่องจากพืชชนิดนี้ต้องการอากาศหนาวเย็นระยะหนึ่งเพื่อสะสมตาดอก แต่ต่อมาค้นพบสารบังคับให้ลำไยออกดอกติดผลได้ในระยะเวลาที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้ ที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและสอยดาว จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นแหล่งปลูกลำไยได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลาดปลายทางอยู่ที่จีน เพราะผลิตลำไยมีคุณภาพดี ทำให้มหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านการเกษตรของภาคเหนือ นำนักศึกษามาดูงานที่จังหวัดจันทบุรี

กล้วยไข่ มีชื่อเสียงมากที่จังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันนี้แหล่งใหญ่อยู่ที่ ๓ จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี และตราด เกษตรกรเขาผลิตกันอย่างเข้มข้นเพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเคยขายจากสวนได้สูงสุดกิโลกรัมละ ๘๐ บาท อย่างไรก็ตาม กล้วยไข่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของกำแพงเพชร เพราะมีประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

มะนาวมีปลูกกันหลายจังหวัด เช่น เพชรบุรี สมุทรสาคร พิจิตร แต่ตลาดมะนาวขึ้นชื่อต้องยกให้ตลาดอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี กรณีนี้คล้ายๆ กับกล้วยน้ำว้าอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ถึงแม้เกษตรกรอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ปลูกได้ดี แต่หากจะให้ขายได้ราคาดี ต้องนำมาขายที่อำเภอบางกระทุ่ม

พืชย้ายถิ่นฐานบางชนิด อาจจะไม่สร้างประโยชน์ แต่ตรงกันข้าม เป็นภาระในการกำจัด เช่นวัชพืชหลายชนิดที่นำเข้ามาโดยตั้งใจ หรือติดมากับผลผลิตทางการเกษตร

เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันแล้ว การเคลื่อนย้ายพืชพรรณที่ต้องการ ปัจจุบันทำได้ง่ายกว่า ไม่ว่าพืชชนิดนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน เพราะการสื่อสารทันสมัย