ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เหรียญจักรมาลา เหรียญบำเหน็จในราชการสำหรับผู้รับราชการทหาร-ตำรวจเกิน 15 ปี
“เหรียญจักรมาลา” หรืออักษรย่อ “ร.จ.ม.” เครื่องราชอิสริยาภรณ์เก่าแก่ที่สุดในบรรดาเหรียญบำเหน็จในราชการ สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2412 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สำหรับพระราชทานแก่ผู้มียศทหารหรือตำรวจ ตลอดจนว่าที่ยศนั้น ๆ โดยรับราชการประจำหรืออยู่ในกองประจำการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี (นับเวลาตั้งแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์)
ทั้งนี้ เหรียญบำเหน็จในราชการ หรือเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จราชการ ถือว่ามีเกียรติเป็นลำดับ 3 ถัดจากตราและเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ
เหรียญจักรมาลาเป็นเหรียญชั้นเดียว พระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับพระราชทาน และจะได้รับพระราชทานพร้อมประกาศนียบัตรที่ทรงลงพระปรมาภิไธยประทับพระราชลัญจกรด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้รับพระราชทานหรือทายาทโดยธรรมของผู้รับพระราชทานกระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ซึ่งถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ จะต้องใช้ราคาเหรียญแก่ทางราชการตามราคาที่กำหนด
ใน พ.ศ. 2416 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตราพระราชบัญญัติรวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ อันมีเหรียญดังกล่าวรวมอยู่ด้วย
ครั้น พ.ศ. 2447 ก็ทรงตราพระราชบัญญัติขึ้น เรียก พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลา รัตนโกสินทรศก 123 ก่อนที่ต่อมามีการยกเลิก และมี พระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา พุทธศักราช 2484 ซึ่งใช้มาถึงปัจจุบัน
เหรียญจักรมาลามีรูปลักษณ์เป็นเหรียญเงินกลม ด้านหน้ามีรูปจักร กลางวงจักรเป็นรูปจุลมงกุฎ พานรองสองชั้นมีเครื่องสูงสองข้าง ด้านหลังมีรูปจักรกลางวงจักรเป็นรูปช้างกับจารึกอักษรว่า “ส.พ.ป.ม.จ.5”
นอกจากตัวเหรียญ ยังมีห่วงห้อยเป็นแพรแถบ กว้าง 3 เซนติเมตร สีแดงขอบเขียว มีริ้วสีเหลืองและสีน้ำเงินสองข้าง ตำแหน่งประดับคือหน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย

อ่านเพิ่มเติม :
- “ลำดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย” เรียงอย่างไร ชิ้นไหนสูงสุด?
- 10 สามัญชน ผู้ได้รับพระราชทาน “เครื่องราชฯ นพรัตนราชวราภรณ์” มีใครบ้าง?
- พล.อ. เปรม กับเครื่องราชฯ โบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งสามัญชนน้อยคนได้รับพระราชทาน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2523). เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2523. กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568