“อากรสุรา” ภาษีที่สร้างรายได้ให้สยามเป็นกอบเป็นกำ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์!

ศีล 5 ข้อบัญญัติทางศาสนา สุรา สยาม อากรสุรา ภาษี
ล้อมวงดื่มเหล้า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อากรสุรา ภาษีที่สร้างรายได้ให้สยามเป็นกอบเป็นกำ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์!

“สุรา” หรือเครื่องดื่มมึนเมาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน มักมีไว้เพื่อกินเลี้ยงสังสรรค์ สร้างความสนุกสนาน แต่บางครั้งก็ดื่มเพื่อปลอบทุกข์ เช่นในละคร “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ที่ออนแอร์ผ่านช่อง 3 “บุญตา” นางเอกของเรื่องก็หยิบยกเจ้าสุราในสมัยนั้นมาเป็นเครื่องสร้างความสนุกสนานบันเทิงให้กับหอคณิกาที่ตนเองสังกัด ทั้งยังสร้างเมนูใหม่ ๆ เชื่อมโยงกับชีวิตในโลกปัจจุบันที่ตนเองจากมา

สุราถือเป็นหนึ่งสินค้าที่สำคัญมาก เพราะนอกจากคนจะชอบดื่มกันแล้ว ยังเป็นรายได้หลักให้กับสยามในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ขายเหล้า-ซื้อเหล้า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

แม้การดื่มสุราจะซบเซาลงไป หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2310 แต่เมื่อเข้าสู่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การผลิตและจำหน่ายสุราก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ปรากฏการสร้างโรงงานบางยี่ขัน โดยนายอากรสุรา จนในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุราก็สร้างรายได้ให้กับรัฐเป็นกอบเป็นกำ

การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแพร่หลายมากในหมู่คนไทย เห็นได้จากบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่เข้ามาในสยาม สมัยรัชกาลที่ 3 ว่า มี “คนขี้เมาและเด็กกลางถนนเป็นอันมาก” และปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทชกตีกันตามถนน และในเขตบ้านเรือนผู้อื่น จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศห้ามก่อเหตุนอกบ้านเรือนของตน

ขณะเดียวกัน ชาวจีนก็อพยพเข้ามาในสยามมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์นี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะภาวะแร้นแค้นในประเทศจีน คนจีนอพยพมาอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง ทําให้การผลิตและจําหน่ายสุรากลั่นขยายตัวทั้งในด้านปริมาณและท้องที่ เมืองที่มีคนจีนมักพบว่ามีโรงกลั่นสุราตั้งอยู่ด้วย กลุ่มบุคคลที่บริโภคสุรามากที่สุด คือกุลีจีน 

สมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนที่อพยพมาเป็นแรงงานมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทําให้รัฐมีรายได้จากสุรามากมาย การที่สุราแพร่หลายมากับคนจีน เป็นผลให้คนไทยในท้องถิ่นเข้าถึงและหาซื้อสุราได้ง่ายกว่าแต่ก่อน

สุราจากต่างประเทศ

เหล้า (ภาพจาก : pixabay)

การหลั่งไหลของสุราต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2398 ที่มีการทําสัญญาเบาว์ริง ตลอดจนสัญญาที่ทํากับประเทศตะวันตกในเวลาต่อมาเกี่ยวกับเรื่องการค้า ได้ระบุยกเลิกการค้าผูกขาดโดยรัฐ ยกเว้นสินค้าต้องห้ามบางชนิด มีความเข้าใจต่างกันในเรื่องสินค้าต้องห้าม ไทยถือว่าอาวุธ ฝิ่น รวมทั้งสุราต่างประเทศ เป็นสินค้าต้องห้าม 

แต่ต่างประเทศไม่นับรวมด้วย จึงมีการนําสุราต่างประเทศเข้ามาเป็นจํานวนมาก โดยยอมเสียภาษีขาเข้าร้อยชักสามเช่นเดียวกับสินค้าชนิดอื่น

เมื่อเสียภาษีแล้วก็ใช้อ้างสิทธิที่จะนําสุราออกขายได้ การจําหน่ายสุราต่างประเทศได้กลายเป็นปัญหาการเมือง เพราะนายอากรสุราได้จับกุมพ่อค้าต่างประเทศและลูกจ้างที่นําสุราออกขาย โดยถือว่าเป็นการลักลอบขายสุราเถื่อน

การหลั่งไหลสุราต่างประเทศเข้ามาโดยเสียภาษีเพียงร้อยละ 3 และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ขณะที่เหล้าโรงที่ผลิตในประเทศถูกรัฐบาลควบคุมทั้งการผลิตและราคา และเรียกผลประโยชน์จากนายอากรสุราสูงทําให้ราคาแพงกว่าสุราต่างประเทศ เป็นเหตุให้ประชาชนนิยมซื้อ 

ผลที่ตามมาคือ การบริโภคสุราจนมึนเมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

รัฐบาลไทยได้พยายามเจรจากับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ใช้เวลาหลายปีจนสําเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2429 ทําให้รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการค้าสุราต่างประเทศได้ โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรขึ้นใน พ.ศ. 2429 ซึ่งผลปรากฏว่าสุราต่างประเทศนําเข้ามาได้น้อยลง ประชาชนนิยมน้อยลง 

แต่กลายเป็นความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงมากขึ้น ในการสมาคมกับชาวยุโรป ใช้เป็นสิ่งต้อนรับของเจ้าขุนมูลนายด้วย

นโยบายของรัฐบาลทางด้านสุรา ปัจจัยประการหนึ่งก็คือ นโยบายอากรสุราซึ่งมีความเด่นชัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีอากร โดยจัดเก็บภาษีอากรชนิดใหม่และเน้นชนิดที่เคยจัดเก็บเดิมให้มากขึ้น เช่น อากรสุรา การปรับปรุงนี้ส่งผลให้รัฐสมัยนี้มีรายได้มากกว่ารัชกาลที่ 2 เกือบ 11 เท่า และอากรที่ทํารายได้ให้แก่รัฐเป็นจํานวนไม่น้อย ได้แก่ อากรสุรา

เมื่อการเก็บอากรสุราได้เงินจำนวนมาก จึงทำให้นโยบายที่ถือว่ารายได้แผ่นดินสำคัญกว่าการควบคุมการเสพสุราได้รับการต่อยอดในสมัยต่อมา และเมื่อบ้านเมืองเกิดปัญหาเรื่องรายจ่ายแผ่นดิน รัฐก็มักจะแก้ไขด้วยการหารายได้จากอากรสุราอยู่เสมอ พร้อมกับการส่งเสริมเรื่องการบริโภคไปด้วย

นี่เป็นเรื่องราวของ อากรสุรา ภาษีที่เกิดขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568