ชนกลุ่มไหนสร้างนครวัด? เมื่อ “ยอช เซเดส์” โต้ทฤษฎี “คนอินเดียสร้างเมืองพระนคร”

นครวัด เมืองพระนคร กรุงศรียโสธรปุระ
นครวัด (ภาพจาก หนังสือ : Voyage d'exploration en Indo-Chine effectue )

ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ (George Coedes) เป็นนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้มีบทบาทสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย รวมถึงเขมร โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับเมืองพระนคร หรือกรุงศรียโสธรปุระ ของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ

ก่อนยุคของเซเดส์ “อองรี มูโอต์” นักสำรวจชาวฝรั่งเศสผู้บันทึกการเดินทางสำรวจอินโดจีนตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ได้ปลุกกระแสความตื่นตัวด้านการศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาและความนิยมต่อ “นครวัด” เทวสถานอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนคร จนเกิดงานเขียนต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณในดินแดนเขมร

กระทั่ง ยอช เซเดส์ ได้เป็นส่วนหนึ่งของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ที่มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาอย่างจริงจังในฐานะดินแดนดินโดจีนของฝรั่งเศส กลับพบว่างานเขียนจำนวนหนึ่งนอกจากจะไม่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณที่ถูกลืมเลือนแห่งนี้แล้ว ยังสร้างความเข้าใจผิดจากหลักฐานที่ขาด ๆ เกิน ๆ และการแทรกความเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วย

ยอช เซเดส์
ยอช เซเดส์ ณ บุโรพุทโธ พ.ศ. 2469 (ภาพจากห้องสมุดส่วนตัวของครอบครัวเซเดส์)

ในหนังสือ Angkor An Introduction เมืองพระนคร นครวัด นครธม งานเขียนชิ้นสำคัญของเซเดส์ (ปราณี วงษ์เทศ แปล. มติชน : 2536) ระบุว่า “ผู้ที่มีรสนิยมค่อนข้างโรแมนติกกับซากโบราณสถานที่ลี้ลับมักจะชอบที่จะเชื่อทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของตนว่า เกือบจะไม่มีใครรู้อะไรเลยเกี่ยวกับโบราณสถานของเขมร”

เซเดส์ ยกตัวอย่างหนังสือ Pélerin d’Angkor หรือ “นักแสวงบุญแห่งเมืองพระนคร” ผลงานของ ปิแอร์ โลตี (Pierre Loti) ซึ่งเล่าถึงชนชาติที่สร้างเมืองพระนครว่าเป็นผู้คนจากอินเดีย ความว่า

“บางทีอาจจะอยู่ในช่วงสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้ ที่ผู้คนจำนวนมากอพยพมาจากอินเดีย มาตั้งถิ่นฐานบนริมฝั่งของแม่น้ำนี้ (แม่น้ำโขง-ผู้เขียน) หลังจากที่ปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งขี้ขลาดแล้ว ผู้ชนะเหล่านั้นได้นำเอาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ และเรื่องราวที่น่ารักของมหากาพย์รามายณะเข้ามาด้วย

เมื่อความเจริญรุ่งเรืองได้ขยายตัวขึ้น ณ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ผู้คนเหล่านี้ก็ได้สร้างปราสาทหลังแล้วหลังเล่าขึ้น ซึ่งแต่ละแห่งได้สลักเสลาเป็นภาพต่าง ๆ ไว้นับพัน”

โลตียังกล่าวด้วยว่า “ซากปรักหักพังที่แทบจะจำไม่ได้ของปราสาทที่อยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์ดึกดำบรรพ์ที่ง่าย ๆ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังอำนาจอย่างป่าเถื่อนของประชาชนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ ช่างแตกต่างจากชนกลุ่มอื่นใดในโลก

ชนชาวเขมรนับเป็นสาขาหนึ่งที่แยกออกไปจากชนเผ่าอารยันที่ยิ่งใหญ่ซึ่งบังเอิญเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นี้และได้พัฒนาจนห่างไกลไปจากต้นกำเนิดเดิมของตน โดดเดี่ยวจากทุกสิ่งทุกอย่างด้วยป่าทึบและที่ลุ่มอันกว้างใหญ่ไพศาล”

เซเดส์ ชี้ว่า Pélerin d’Angkor คือตัวอย่างของทฤษฎีผิด ๆ ที่ (เคย) เชื่อกันโดยทั่วไป ความจริงคือ แม้อารยธรรมของอินเดียจะมีอิทธิพลต่ออินโดจีนค่อนข้างสูง มีร่องรอยพัฒนาการของศาสนาฮินดูในต่างแดน (นอกอินเดีย) ที่ค่อนข้างโดดเด่น แต่ “ที่จะสรุปว่าเขมรเป็นประชาชนที่อพยพมาเป็นกลุ่มก้อนจากอินเดีย ดูจะเป็นการข้ามขั้นมากเกินไป”

ลานหินสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์
ลานหินสู่ประตูทางเข้าปราสาทนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดยกิโอด์ จากรูปสเก๊ตช์ของมูโอต์

ในทัศนะของเซเดส์ หากพิจารณาจากลักษณะทางชาติพันธุ์และภาษาแล้ว กลุ่มชนที่สร้างเมืองพระนครและชาวกัมพูชาในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่ตั้งหลักแหล่งในอินโดจีนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และพวกเขาสามารถแผ่ขยายอาณาเขตจากศูนย์กลางบริเวณลุ่มทะเลสาบเขมรไปถึงตอนใต้ของพม่า และเทือกเขาอันนัมในลาว

ส่วนชนชั้นสูงที่เป็นผู้ปกครองอาณาจักรพระนครนั้น เข้าใจว่ายุคแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูที่เชื่อมโยงกับอินเดียจริง แต่ความเข้มงวดเรื่องระบบวรรณะได้ผ่อนคลายลงในระยะเวลาอันสั้น ณ ดินแดนที่ห่างไกลจากมาตุภูมิ (อินเดีย) และมีการสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์กับชนพื้นเมืองจนไม่เกิดปัญหาเรื่องการมีชนชาติเป็นผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นล่างยังปรากฏให้เห็น นั่นคือการใช้ภาษาสันสกฤต ถึงอย่างนั้น การสร้างรูปเคารพ รูปกษัตริย์ หรือเทพเจ้าต่าง ๆ ล้วนถอดแบบจากรูปหน้าของชาวเขมร

เซเดส์ สรุปประเด็นนี้ว่า “กัมพูชาคือดินแดนของกัมพูชา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษในเทพนิยายปรัมปราของเชื้อชาติเขมร และประชาชนก็เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากกัมพู เป็นชาวกัมพูชา เช่นเดียวกับกษัตริย์ของพวกเขา

เป็นชาวพื้นเมืองซึ่งมีกำลังเข้มแข็งข้นด้วยการผสมผสานกับสายเลือดของฮินดูและวัฒนธรรมพราหมณ์ แต่เราไม่สามารถคิดถึงชาวเขมรในลักษณะที่มาเป็นกลุ่มก้อนจากอินเดียสู่ประเทศที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ หรือได้เข้ามาทำลายล้างประชาชนพื้นเมืองที่นี้จนหมดสิ้นได้”

กล่าวคือสำหรับเซเดส์แล้ว สิ่งปลูกสร้างอันใหญ่โตโอ่อ่าของเมืองพระนคร ไม่ว่าจะเป็นนครวัด นครธม ฯลฯ ล้วนสร้างโดยกลุ่มชนที่วิวัฒน์จนเป็นคนเขมรโบราณ บรรพบุรุษของคนกัมพูชาไปแล้ว ไม่ใช่คนอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ยอร์ช เซเดส์ ; ปราณี วงษ์เทศ แปล. (2536). Angkor An Introduction เมืองพระนคร นครวัด นครธม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เหตุใด อ็องรี มูโอต์ จึงกลายเป็นผู้ค้นพบปราสาทนครวัด. วันที่ 25 มกราคม 2565. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_81427


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568