ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเทศฝรั่งเศสฉลองครบรอบการปฏิวัติในฐานะ “วันหยุดประจำชาติ” ทุกวันที่ 14 กรกฎาคม เพราะวันนี้เมื่อ ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) เกิดเหตุการณ์ทลายคุกบัสตีย์ สัญลักษณ์แห่งอำนาจและการกดขี่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือระเบิดลูกใหญ่จากประกายไฟเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส อันมีตัวแปรสำคัญคือผู้แทนสามัญชนใน “สภาฐานันดร”
สภาฐานันดร
สภาฐานันดร (Estate General) หรือ “รัฐสภา” ของฝรั่งเศสในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีผู้แทนจาก 3 ฐานันดร ได้แก่ ฐานันดรที่ 1 ขุนนาง ฐานันดรที่ 2 นักบวช และ ฐานันดรที่ 3 สามัญชน กลุ่มละ 300 คน ไม่ว่าแต่ละเขตจะมีประชากรเท่าใดก็มีสิทธิ์ส่งผู้แทนได้ฐานันดรละ 1 คน
หลักการลงคะแนนเสียงแต่ละครั้งไม่ใช่เสียงรายบุคคลที่เข้าร่วมประชุม แต่เป็นมติเอกฉันท์ของทั้ง 3 ฝ่าย เป็นเหตุให้ฐานันดรที่ 1 และ 2 สามารถควบคุมการลงมติได้เสมอ ส่วนฐานันดรที่ 3 กลายเป็นเสียงข้างน้อยจากการ “ฮั้ว” กันของขุนนางชนชั้นสูงและนักบวช

อย่างไรก็ตาม สภาฐานันดรมีบทบาทไม่มากนักในระบอบที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจล้นพ้น กระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสประสบปัญหาจากทุพภิกขภัย โรคระบาด การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมและการเมืองภายในอย่างรุนแรง เมื่อหนี้สินของรัฐสั่งสมมากขึ้นเรื่อย ๆ และกษัตริย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะที่ขุนนางยังอยู่ดีกินดี จึงเกิดความพยายามที่จะปฏิรูประบบภาษีอากรอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ประเทศล้มละลาย
แต่นโยบายดังกล่าวเท่ากับไปละเมิดอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงและขุนนางผู้มั่งคั่ง สภาขุนนางจึงคัดค้านแนวทางนี้แบบหัวชนฝา
ค.ศ. 1789 ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สภาขุนนางได้เสนอให้จัดประชุมสภาฐานันดรที่ว่างเว้นมานานตั้งแต่ ค.ศ. 1614 ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อดำรงรักษาและตอกย้ำอภิสิทธิ์ของตน กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ทรงยินยอมให้เรียกประชุมพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ ณ พระราชวังแวร์ซาย วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789
การประชุมสภาหนนี้เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติ ที่พวกขุนนางไม่ได้ตระหนักเลยว่าพวกเขานั่นแหละที่เปิดประตูมรณะเสียเอง

การประชุมสภา ค.ศ. 1789
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สภาฐานันดรมักกดเสียงของสามัญชนให้ไร้สิทธิ์ไร้เสียงมาเนิ่นนาน การประชุมฐานันดร ค.ศ. 1789 จึงเป็นโอกาสให้ฐานันดรที่ 3 เรียกร้องขอเพิ่มจำนวนผู้แทนฝ่ายตนอีกเท่าตัวเพื่อจะได้มีเสียงเท่ากับฐานันดรที่ 1 และ 2 รวมกัน รวมถึงเรียกร้องให้ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นรายบุคคล

ในการเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีการประชุมนั้น พระอธิการซีแยส (Sieyes) ได้เขียนจุลสาร What is the Third Estate? เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1789 มีเนื้อหาโจมตีฐานันดรที่ 1 และ 2 ทั้งชี้ให้เห็นว่าฐานันดรที่ 3 คือผู้แทนของคนส่วนใหญ่และเป็น “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ของประเทศ
ในขั้นต้น สภาที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยินยอมให้มีการเพิ่มจำนวนผู้แทนฐานันดรที่ 3 เป็นจำนวน 610 คน ในจำนวนนี้จะมาจากผู้มีการศึกษาดีและชนชั้นกลางในสาขาอาชีพต่าง ๆ (ไม่มีผู้แทนชาวนาหรือผู้ใช้แรงงาน เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเป็นผู้แทนได้) แต่ไม่กล่าวถึงวิธีการลงคะแนนเสียง ฐานันดรที่ 1 และ 2 จึงยังยึดถือตามธรรมเนียมเดิมที่เคยปฏิบัติมา
ท้ายที่สุด การประชุมสภาฐานันดรครั้งนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 1,139 คน แบ่งเป็นขุนนาง 270 คน นักบวช 291 คน และสามัญชน 578 คน
ก่อนการประชุม วันที่ 2 พฤษภาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จต้อนรับผู้แทนฐานันดรที่ 1 และ 2 ณ ห้องทรงพระอักษร ต้อนรับผู้แทนฐานันดรที่ 3 ในห้องบรรทม
เมื่อถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ผู้แทนขุนนางและนักบวชเดินเข้าสู่พระราชวังแวร์ซายจากประตูใหญ่ด้านหน้า แต่ผู้แทนสามัญชนต้องเข้าประตูเล็กด้านหลัง ทั้งถูกจับแยกห้องประชุม เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าผู้แทน 3 ฝ่ายยังมีศักดิ์ศรีไม่เท่าเทียมกัน ผู้แทนฐานันดรที่ 3 จึงเกิดความไม่พอใจและเรียกร้องให้จัดการประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฐานันดร เป็นเหตุให้การประชุมต้องชะงักไปหลายสัปดาห์
กำเนิดสมัชชาแห่งชาติ
หลังการประชุมไม่คืบหน้า วันที่ 10 มิถุนายน ซีแยสเสนอญัตติให้สภาฐานันดรพิจารณาขอบเขตอำนาจของสภา เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าสภาฐานันดรมีอำนาจทำอะไรได้บ้างการประชุมครั้งนี้ และประชุมไปเพื่ออะไร โดยเชิญชวนสมาชิกฐานันดรที่ 1 และ 2 มาร่วมประชุมกับฐานันดรที่ 3
เมื่อมีขุนนางและพระมาร่วมมากขึ้น ซีแยสจึงเสนอญัตติให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ หรือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ในวันที่ 17 มิถุนายน ด้วยมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่สะท้อนความคิดใหม่เรื่องอำนาจอธิปไตยแห่งชาติที่ไม่ได้เป็นของกษัตริย์อีกต่อไป สภานี้จึงกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศส พวกเขาลงมติว่าจะไม่จ่ายภาษีหากถูกแยกการประชุม และยกเลิกอำนาจคัดค้าน (veto) ของกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงทรงสั่งให้ล้มล้างมติดังกล่าวและปิดการประชุมทันที
แต่สมัชชาแห่งชาติไม่ยอมถอย พวกเขาฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อย่างเปิดเผย และไปเปิดการประชุมต่อที่บริเวณสนามเทนนิสของพระราชวังแวร์ซาย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1789 ทั้งร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณว่าจะไม่ยอมแยกจากกัน และจะประชุมกันในทุกหนแห่งตามความจำเป็นของสถานการณ์ จนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญของประเทศแล้วเสร็จ

นี่คือสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากกษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด มาเป็น “ชาติ” ที่กระทำการผ่านสภาสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกฐานันดรที่ 3 จึงกล่าวได้ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ก้าวแรกของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เริ่มต้นจากการปฏิวัติโดยสภา
นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มจึงถือว่า วันที่ 20 มิถุนายน วันที่เกิดการประชุมที่สนามเทนนิส เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้การโจมตีคุกบัสตีย์จะโด่งดังกว่าในฐานะสัญลักษณ์การพังทลายของระบอบเก่าและอรุณอันรุ่งโรจน์แห่งการปฏิวัติ

อ่านเพิ่มเติม :
- “ภาษีเกลือ” ภาษีแห่งความ “แค้นใจ” ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
- ทหารใช้ “ปืนใหญ่พระนารายณ์” ถล่มป้อมบาสตีย์ ในการปฏิวัติฝรั่งเศส?
- ฌ็อง-ปอล มาราท์ นักเขียนฝ่ายซ้ายช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้สังหารศัตรูจากปลายปากกา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2565). ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : มติชน.
ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2565). Les Citations: ปัญญาจารย์การเมือง. กรุงเทพฯ : ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮ้าส์.
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
NGThai, National Geographic. การทลายคุกบัสตีย์ “Bastille Day” เหตุการณ์ต้านอำนาจกษัตริย์ – จุดเริ่มต้นของการ ปฏิวัติฝรั่งเศส. 28 มิถุนายน 2564. จาก https://ngthai.com/history/36710/bastilleday/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม