ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีความงดงามทั้งสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม หนึ่งในนั้นคือ “หอระฆัง” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างเป็นบุษบกทรงมณฑป งามตาด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ โดยหอระฆังที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ แล้ว “ระฆังวัดพระแก้ว” ที่อยู่ด้านบน หล่อขึ้นในยุคไหน สมัยรัชกาลที่ 4 ใช่หรือไม่?

ไขปริศนา “ระฆังวัดพระแก้ว”
ผศ. ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล่าในบทความ “เพลงยาวกรมศักดิ์ : ความรัก ความหลัง และระฆังวัดพระแก้ว” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2567 ว่า
ระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรากฏใน “เพลงยาว” ที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็น “กรมหมื่นศักดิพลเสพ” ทรงพระราชนิพนธ์โต้ตอบกับ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในเพลงยาวระบุว่า “ระฆังพระแก้วตีเตือน ร้อนใจเหมือนจักขว้ำ อกพี่แรงชอกช้ำ เร่งช้ำใจถึง” เมื่อฝ่ายหญิงมีเพลงยาวตอบกลับ ได้เปรียบเทียบความรักของฝ่ายชายว่าจะกลับกลายเป็นระฆังสองเสียง ดังนี้
“อันเดิมตีนี้ระฆังในวัดพระแก้ว พี่หวาดแว่วว่าจะเป็นเช่นสองเสียง
ไก่กระพือปีกขันสนั่นเวียง ส่งสำเนียงเร้าเร่งดาเรศแรง
วินิจดาวคราวเมื่อดึกเด่นระดาษ ดูอนาถจวนรุ่งก็โรยแสง
วิตกเช่นเห็นประกายพรึกแปลง ถึงยามแจ้งแล้วจะโอ้แต่อกรัว”
เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงได้รับเพลงยาวนี้ ก็ทรงตอบกลับด้วยการยืนยันถึงความรักของพระองค์ว่ายังมั่นคงดั่งระฆังวัดพระแก้ว ที่มีเสียงไพเราะเป็นหนึ่งเดียว (เน้นคำโดย กอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)
“ซึ่งยังหมองสองเสียงระฆังวัด พระศรีรัตนศาสดาสถาน
ถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาล ส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลง
แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ สิบเจ็ดปีตีเป็นนิจไม่ผิดกระแสง
แล้วเด่นเดียวอนาถโอ้อยู่กลางแปลง มิใช่จะแข่งเปลี่ยนเสียงเช่นวัดระฆัง
ถึงจะระดมพร้อมตีทีละห้า โดยสัญญาจะให้เป็นเสียงเดียวมั่ง
ก็เอาเทิดสำเนียงแปร่งไม่อยากฟัง บ้างก็ดังเหง่งหงั่งไม่ยั่งยืน”
ผศ. ธนโชติ ตั้งข้อสังเกตว่า เพลงยาวข้างต้นระบุว่า ระฆังที่วัดพระแก้วเป็นระฆังที่หล่อขึ้นโดยเฉพาะ และหล่อมานานถึง “สิบเจ็ดปี”
หากยึดตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ว่าสิบเจ็ดปีในเพลงยาวกรมศักดิ์ ตรงกับสิบเจ็ดปีนับตั้งแต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต
ดังนั้น ระฆังซึ่งอยู่ที่วัดพระแก้วควรจะหล่อขึ้นราว พ.ศ. 2346 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่า ระฆังที่วัดพระแก้วเป็นระฆังที่นำมาจากแหล่งอื่นหรือไม่
หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ระฆังนี้ไม่ได้นำมาจากที่ไหน แต่หล่อขึ้นโดยเฉพาะ คือ สมุดไทยเรื่อง “สำเนารายงาน เล่ม ๕ ว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จ.ศ. 1193 (พ.ศ. 2374)” กล่าวถึงประวัติการหล่อระฆังเมื่อครั้ง “สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรม” (ควรหมายถึงรัชกาลที่ 1) และการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังครั้งรัชกาลที่ 3 ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)
“องค์ระฆังแขวนห้อยร้อยเหล็กห่วง อยู่กลางดวงดาวยาววา ๑ ถึงขอเหล็กล้วนปิดทองลงมาคล้องหน่วงห่วงนาคหลังระฆังทองหล่อ ปากแลคอข้างแลขอบรอบไปล้วนใสขัดหมดจด ผ้าพาดแลราดตะคดแลปุ่มนั้นปิดสุวรรณคำเปลวล้วน
โดยส่วนสูงศอกคืบ ๕ นิ้ว กว้างศอก ๔ นิ้ว ขึ้นลอยลิ่วลั่นชื่อฦๅเสียงสำเนียงเสนาะ เมื่อถึงยามย่ำบัณเฑาะก์เพราะดังเปนกังวาน วิเวกหวานวังเวงเหง่งแว่วเข้าแก้วหู เป็นที่ชื่นชูใจไพร่ฟ้าวงศาสุรศักดิ์ เคยประจักษ์จำสำเหนียกสำเนียงไก่เมื่อตี ๑๑ เสียงเป็นเม็ดโลดลอยละห้อยหวนครวญครั่น จึ่งชวนกันตื่นขึ้นภาวนาหาของธารณะ ระฆังพระทั้งปวงจึ่งตีตามเมื่อผ่ายหลัง
เสียงเคาะไม้ดั่งโด่งเปรียบเทียบถึงเสมอสอง มาถ่ายอย่างสร้างจำลองไปหล่อเลียนก็เพี้ยนเสียง ไม่เคียงคู่สู้ไม่ได้ไม่มีใครเทียมทันเป็นขวัญเมือง เลื่องฦๅดีอยู่ในศรีอยุทธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี ด้วยเดิมทีสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรม อนันตคุณวิบุลเลิศฟ้าที่ล่วงแล้วนั้นทรงหล่อ พร้อมด้วยพระหน่อสุริวงศ์เสนาอนงค์นางใน ถอดกำไลแหวนทองแลเงินแลนาคนั้นหลากหลาย ใส่ละลายหล่อหลอมพร้อมเพรียงเสียงจึงดี ด้วยบารมีภินิหารวันทรงหล่อต่อตั้ง
มาครั้งนี้เล่าสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรมวิริยาธึก โดยลึกซึ้งแสนละเอียดสุขุมภาคมาตรงปฏิสังขรณ์ ก็ยิ่งวัฒนาถาวรวิจิตรโจกระฆังทั้งจังหวัด คู่บารมีพระศรีรัตนปฏิมากรมรกต ซึ่งพระอินทร์องค์ทรงรจนามาแต่งตั้ง ใครได้ฟังก็เป็นมงคลควรเงี่ยหูชื่นชูใจ”
สรุปแล้ว ระฆังวัดพระแก้ว จึงเป็นระฆังที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้หล่อขึ้นโดยเฉพาะ ไม่ได้นำมาจากที่อื่นใดนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ระฆังสำริด” พระราชวังเดิม ไม่ใช่ของจีน แต่เป็น “ระฆังเวียดนาม”!?
- “ระฆังใหญ่สุดในไทย” ที่วัดกัลยาณมิตร ช่างไทยหล่อไม่สำเร็จ ช่างญี่ปุ่นหล่อ 3 ครั้ง
- “ระฆังพระเจ้าจิงกูจา” ระฆังคู่บ้านคู่เมืองพม่า อังกฤษพยายามขนกลับประเทศแต่ไม่สำเร็จ!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2567