ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
กระทรวงการต่างประเทศ เป็น “หน่วยงานราชการ” แห่งแรกของไทย ที่มี “สำนักงาน”, “ที่ทำงาน” หรือ “ออฟฟิศ (office)” เป็นทางการ
ธรรมเนียมปฏิบัติเดิม
เวลานั้น ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะทำงานที่บ้าน (work from home) เสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างบัญชาราชการที่บ้านของตน เจ้าหน้าที่มีข้อราชการต้องหารือ, รับคำสั่ง ฯลฯ จึงจะไปที่บ้าน/วัง เสนาบดี และย้ายไปตามเมื่อเปลี่ยนเจ้ากระทรวง ขณะที่ส่วนภูมิภาคก็ย้ายไปตามจวนของเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัด
ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรือนจำของกระทรวงนั้นตั้งอยู่ริมกำแพงหน้าพระราชวัง ตรงหลังหอรัษฎากรพิพัฒน์ออกไป…ถึงกระทรวงอื่นๆ แต่ก่อนก็มีหน้าที่ทางตุลาการต้องชำระคดีอันเนื่องต่อกระทรวงนั้นๆ แต่ตั้งทั้งศาลและสำนักงานกระทรวงที่บ้านเสนาบดีด้วยกัน
…แต่ก่อนมา เสนาบดีจึงบัญชาการกระทรวงที่บ้าน แม้มีสำนักงานอยู่ที่อื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ก็ไม่ไปนั่งบัญชาการที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต้องไปเสนอราชการแลรับคำสั่งเสนาบดีที่บ้านเป็นนิจ…
…ตามหัวเมืองในสมัยนั้น…ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการบ้านเมืองเหมือนอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)
ที่ทำงานแห่งแรก
เมื่อ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ลาออกจากตําแหน่งใน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขณะมีพระชันษา 27 ปี ให้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2428
สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการไม่ทรงเห็นชอบที่หน่วยงานราชการมีการบัญชาการจากที่บ้าน จึงกราบบังคมทูลฯ ถึงเหตุผล และขอให้มีที่สํานักงานกระทรวงการต่างประเทศเหมือนกับประเทศอื่น
รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบ และพระราชทาน “วังสราญรมย์” ให้ยืมเป็นที่ทำงาน กระทรวงการต่างประเทศ แม้จะเป็นสถานที่ชั่วคราว แต่ก็เป็น “ที่ทำงาน” แห่งแรกของหน่วยงานราชการไทย
เรื่องนี้ปรากฏความในพระราชหัตเลขา ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งว่า
“…ฉันได้มอบราชการให้กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ บังคับบัญชาต่อไป แต่ ‘ออฟฟิซราชการ’ นั้น ไปตั้งที่บ้านอย่างแต่ก่อนเหนไม่เป็นแบบราชการ…ราชการไม่ใคร่ได้ประชุมพบปะกัน ก็มักจะให้มีเหตุต่างๆ มีการช้าเหลือเกินไปเปนต้น แลราชการมักตกหล่นสูญหายเสียโดยมาก
จึ่งคิดจะให้ออฟฟิซตั้งอยู่ในที่แห่งเดียว เปนมั่นคงสำหรับแผ่นดินสืบไป แต่ในเวลานี้ยังไม่มีที่ใดสมควรเปนออฟฟิซได้ ให้เธอมอบวังสราญรมย์ให้กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เปนออฟฟิซว่าการต่างประเทศไปกว่าจะได้ทำออฟฟิซในพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้วเสร็จ”
เงินเดือนราชการ
นอกจากธรรมเนียมการทำงานที่งานแล้ว ในอดีตข้าราชการไม่มีค่าตอบแทน หรือ “เงินเดือน” ที่เป็นจำนวนแน่นอน และจ่ายตามกำหนดเวลาเช่นปัจจุบัน เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“…แต่ตามประเพณีเดิมข้าราชการกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้รับแต่เบี้ยหวัดประจำปีกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการที่ทำเป็นผลประโยชน์ในตำแหน่ง หาได้รับเงินเดือนไม่…”
เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงรับตำแหน่งเสนาบดี ทรงพระดําริและจัดระเบียบต่างๆ ภายในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น การแบ่งหน้าที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย, วิธีร่างเขียนแลเก็บจดหมายในราชการ ซึ่งใช้กันเป็นแบบอยู่ทุกกระทรวงในทุกวันนี้
นอกจากนี้ ทรงเป็นเสนาบดีแรกที่ไปทำงานที่สำนักงานทุกวันเหมือนกับข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งเป็นเสนาบดีท่านแรกที่ได้รับแต่เงินเดือนเหมือนกับคนอื่นอันมีหน้าที่ในสำนักงานกระทรวง
กระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็น “หน่วยงานราชการ” แรกที่มีทำงาน และเสนาบดีได้รับเงินเดือน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอัจฉรา เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 เมษายน 2526.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.“สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” ใน, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม 2519
รศ. นพ. ถนอม บรรณประเสริฐ, รัชดา โชติพาณิช, วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. แพทยสภา จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2567