ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถือเป็นเจ้านายราชวงศ์จักรีที่มีพระชันษายืนยาวอีกพระองค์หนึ่ง ถึงอย่างนั้น “ความชรา” ก็มิใช่สาเหตุหนึ่งเดียวในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เนื่องจากมีหลักฐานถึงโรคประจำพระองค์อยู่ เช่นนั้น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุหรือโรคใดกันแน่?
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ทรงรับราชการในกรมกองต่าง ๆ มากมาย จากความโดดเด่นที่ทรงพระปรีชาในงานช่าง จิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม รวมถึงงานด้านนาฏศิลป์และอักษรศาสตร์ จนทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บรมครูในการช่างและศิลปะ” และ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ เป็นเสนาบดีกระทรวงวังมาจนถึง พ.ศ. 2452 ได้ประชวรด้วยพระโรคพระหทัยโต จากการพักผ่อนน้อย แพทย์ประจำพระองค์แนะนำให้ทรงลาพักราชการเพื่อรักษาพระองค์ แต่แรก ๆ ไม่ทรงยอม กระทั่งเกิดอาการพระหทัยอ่อนแทรกเข้ามาด้วย จึงกราบบังคมลาออกจากราชการ
ในประกาศพระราชดำรัสวันที่ 11 พฤศจิกายน 2456 ในรัชกาลที่ 6 ได้เขียนเกี่ยวกับพระโรคที่ทำให้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ตอนหนึ่งว่า
“…ถึงพุทธศักราช 2452 เกิดพระโรคขึ้นภายในพระองค์ไม่สามารถจะรับราชการในตำแหน่งให้บริบูรณ์ได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหน้าที่เสนาบดีกระทรวงการวัง…
…แต่พระองค์ก็ยังทรงพระอุตสาหรับราชการในส่วนพระองค์ มีการคิดทำแบบอย่างในงานช่างอันเป็นฝ่ายศิลปอย่างประณีตถวายอยู่เนืองๆ…”
ต้นรัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ทรงซื้อที่ดินที่คลองเตยสร้างเป็นตำหนักเพื่อประทับในฤดูร้อน แต่เมื่อเสด็จกลับวังท่าพระก็ประชวรทุกที จึงประทับอยู่ที่นั่นเป็นการถาวร จะเข้ามาวังท่าพระเฉพาะเมื่อมีราชพิธีหรืองานส่วนพระองค์
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระองค์ยังต่างประเทศ และทรงพ้นจากตำแหน่งเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ
“โรคประจำพระองค์” สาเหตุการสิ้นพระชนม์
จากพระประวัติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ มีพระโรคประจำพระองค์ คือ พระโรคพระหทัยโต (ภาวะหัวใจโตขยายว่าปกติ) หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (เกี่ยวกับปอด) และพระโรคเส้นโลหิตแข็ง (เส้นเลือดขอด) เมื่อพระชันษามากขึ้น พระกำลังก็เสื่อมถอยจนสิ้นพระชนม์โดยสงบด้วยพระหทัยหยุดทำงานเพราะชราภาพ ในวันที่ 10 มีนาคม 2490 พระชันษา 83 ปี
หนังสือ เจ้านายในราชวงศ์จักรี เล่ม 3 เขียนว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระหทัยพิการ”
ด้าน รศ. นพ. เอกชัย โควาวิสารัช วิเคราะห์ไว้ในบทความ “ชันสูตรประวัติศาสตร์ : กรณีสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2567) ว่า “โรคพระหทัยล้มเหลว” หรือภาวะหัวใจล้มเหลว น่าจะเป็นสาหตุหลักของการสิ้นพระชนม์
โรคดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะหัวใจโต ที่มีสาเหตุจากหลายประการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อน ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ
การที่มีภาวะหัวใจโต หัวใจต้องทำงานหนักและโตขึ้น ทำให้หัวใจล้มเหลว คือ หัวใจไม่สามารถทำงานปั๊มเลือดที่ออกจากหัวใจให้ไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างพอเพียง ทำให้มีอาการหลายอย่างที่มีผลต่อการใช้ชีวิตโดยตรง เช่น เหนื่อย หอบ ใจสั่น ขาบวม นอนราบไม่ได้
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ มีพระโรคพระหทัยโตและอาการพระหทัยอ่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2452 เป็นสาเหตุให้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ขณะมีพระชันษาได้ 46 ปี ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2490 คือ 38 ปีให้หลัง
รศ. นพ. เอกชัย อธิบายว่า “พระโรคพระหทัยพิการที่ระบุว่าเป็นพระโรคที่ทำให้สิ้นพระชนม์นั้น เป็นชื่อโรคที่ไม่ได้มีการอธิบายละเอียดว่ามีพระอาการเป็นอย่างไร
แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยพระองค์น่าจะมีพระอาการเหนื่อย อ่อนแรง หอบ ซึ่งเป็นพระอาการที่บ่งบอกว่าพระองค์น่าจะทรงมีภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ที่น่าจะประชวรมานานตั้งแต่ พ.ศ. 2452 แต่เนื่องจากพระองค์ทรงพักรักษาพระองค์อย่างดี ทำให้พระองค์สามารถดำรงพระชนมชีพได้อีก 38 ปี”
ส่วนโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคเส้นโลหิตแข็งนั้น ไม่พบหลักฐานว่าเป็นเหตุที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สิ้นพระชนม์ เพียงแต่คงทำให้พระองค์ทรงทุกข์ทรมานพระวรกายอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ภาพที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชม
- ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ “สมเด็จครู” ภาพจตุโลกบาล ภายในห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน
- “กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอกชัย โควาวิสารัช, รศ. นพ. ชันสูตรประวัติศาสตร์ : กรณีสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2567