มรณะแห่งประวัติศาสตร์ : แหล่งอารยธรรมมนุษย์ที่ถูกทำลายโดยโจรและกองทหารอเมริกัน

ปี ค.ศ. 2003 นับว่าเป็นปีวิกฤตของชาวอิรัก เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ บุช ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าโจมตีอิรัก ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ ด้วยข้อหาสะสมอาวุธนิวเคลียร์และกำจัดผู้นำเผด็จการอย่างซัดดัม ฮุสเซน

แม้ว่าการโจมตีของอเมริกาจะอ้างว่านำมาเพื่อสันติภาพ แต่พวกเขากลับคร่าชีวิตผู้คน ทำลายทรัพย์สินไปมากมาย กลุ่มหัวขโมยถือโอกาสตอนที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย ฉกฉวยสิ่งมีค่าเพื่อส่งต่อสู่ตลาดมืด และซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น อาจจะด้วยความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งหัวขโมยและกองทัพอเมริกันได้ทำลายประวัติศาสตร์มนุษยชาติลงไปไม่เหลือชิ้นดี

ประเทศอิรักนับว่ามีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จากความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส จึงก่อเกิดอารยธรรมโบราณมากมาย เช่น อาณาจักรบาบิโลน อัสซีเรีย สุเมเรียน ฯลฯ อารยธรรมเหล่านี้หลงเหลือเป็นแหล่งโบราณคดีอีกหลายพันแห่งที่ยังรอการขุดค้น

เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามอ่าวเปอร์เซียปี ค.ศ. 1991 พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ในอิรักถูกโจรกรรมไป 13 แห่ง ไม่นับโบราณสถานที่ถูกทำลายจากการเคลื่อนกองกำลังทหาร แต่ปัจจุบันหลังจากการโจมตีอิรักในปี ค.ศ. 2003 ผ่านมาเกือบ 5 ปี เฉพาะที่เมืองนาสสาริยาห์ (Nassariyah) เพียงที่เดียวซึ่งมีแหล่งโบราณคดีไม่น้อยกว่า 840 แห่ง กำลังถูกพวกหัวขโมยขุดทำลายหาของโบราณที่พอจะขายได้ส่งให้พ่อค้าในตลาดมืด เพื่อขายให้กับนักสะสมผู้มั่งคั่งซึ่งไม่เคยสนใจว่าจะต้องขุดทำลายโบราณสถานเท่าใดจึงจะได้สิ่งเหล่านี้มา

โจแอนน์ ฟาร์ชัค (Joanne Farchakh) นักโบราณคดีชาวเลบานอนกล่าวว่า นอกจากการโจรกรรมสมบัติตามพิพิธภัณฑ์แล้วหัวขโมยเหล่านี้ไม่ปล่อยให้พื้นที่แม้เพียง 1 เมตรที่พวกเขาเชื่อว่ามีเมืองของชาวสุเมเรียนฝังอยู่ใต้ดินหลุดรอดไปได้ พวกเขาทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบนำโดยชาวอิรักผู้ชำนาญในการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งเคยศึกษาหรือทำงานด้านนี้ในยุคที่ซัดดัมเรืองอำนาจ และหันมาเป็นโจรเพราะความยากแค้นจากภาวะสงครามและความละโมบ ซึ่งกินเนื้อที่การทำลายล้างไม่ต่ำกว่า 20 ตารางกิโลเมตร

ไม่เพียงเท่านี้ ฐานทัพของอเมริกาในอิรักก็สร้างปัญหาเช่นกัน การทิ้งระเบิดในตัวเมืองทำให้พิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งได้รับความเสียหาย พวกเขาใช้แหล่งโบราณคดี หรือสถานที่ทางประวัติศาสตร์ไม่ต่ำกว่า ๗ แห่ง เป็นที่ตั้งฐานทัพ เช่น เมืองโบราณบาบิโลน โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเมืองจากกลุ่มหัวขโมย แต่กลับทำให้โบราณสถานได้รับความบอบช้ำมากขึ้น ยวดยานพาหนะขนาดยักษ์ของกองทัพที่วิ่งไปมาบนถนน ทำให้กำแพงร้าวและแหล่งโบราณสถานใต้พื้นดินได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากการเกิดแผ่นดินไหว

มรดกของอิรักที่กำลังถูกทำลายด้วยน้ำมือกองทหารและหัวขโมย (ดูแผนที่ประกอบ)

เฮตรา (Hatra) ก่อตั้งโดยชาวอัสซีเรีย ป้อมปราการแห่งเฮตราที่งดงามกำลังกลายเป็นเหยื่อของพวกหัวขโมย พวกนั้นตัดก้อนหิน เคลื่อนย้ายลวดลายแกะสลักและภาพนูนออกจากตัวป้อมปราการ

บาบิโลน (Babylon) แม้ว่าจะมีการป้องกันเมืองนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างจากกองทัพอเมริกันและยวดยานพาหนะของกองทัพ รวมถึงรถถังที่วิ่งไปมาทำให้อิฐปูพื้นทางเดินอายุ 2,500 ปี ถูกทำลาย ยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดกับประตูอิชตาร์ (Ishtar Gate)

ลาร์ซา (Larsa) (ในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นที่รู้จักในชื่อ เอลเลสซาร์) ลาร์ซาเป็นเมืองที่มีคนรู้จักน้อยที่สุด และไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดีมากนัก ในขณะเดียวกันเมืองนี้ก็ได้รับการดูแลน้อยกว่าเมืองบาบิโลนเช่นกัน จึงได้รับความเสียหายจากการที่พวกหัวขโมยเที่ยวขุดเจาะหลุมไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง เพื่อค้นหาสมบัติ

เออร์ (Ur) (เป็นที่รู้จักในชื่ออูริน จากบันทึกของชาวสุเมเรียน และกาเมียร์นาห์ (Qamirnah)) เป็นที่ทราบกันว่าแหล่งอารยธรรมขนาดใหญ่ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์โลกแห่งนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว แม้จะได้รับการปกป้องจากการที่อเมริกาใช้เป็นฐานทัพ แต่วิหารซิกกูแรต และโบราณสถานต่างๆ ในเมืองเออร์ต่างได้รับความเสียหายจนยากที่จะซ่อมแซมได้

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กรุงแบกแดด (Bagdad Historical Museum) การโจมตีแบกแดดของกองทัพอเมริกันในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2003 ทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งถูกโจรกรรม มีคำสั่งให้ฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ แต่ก็สายเกินไปเพราะโบราณวัตุต่างๆ กว่าพันชิ้นได้สูญหายไปแล้ว

ไอซิน (Isin) มีการขโมยแผ่นจารึกอักษรคูนิฟอร์มและโบราณวัตถุต่างๆ จากวิหารกูลา (Temple of Gula) และโบราณสถานอีกนับไม่ถ้วนในเมืองนี้ ราวกับทะเลทรายเต็มไปด้วยหลุมของตัวแบดเจอร์หลายร้อยหลุม

อย่างไรก็ตามทั้งผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น นักโบราณคดี หรือนักวิชาการชาวอิรักก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหานี้ ในปี ค.ศ. 2006 ดร. อับดุลาเมียร์ ฮัมดานิ (Abdulamir Hamdani) ผู้อำนวยการการอนุรักษ์สิ่งโบราณของเมืองดี คาร์ (DI Qar) ทางตอนใต้ของอิรัก กล่าว่า พวกเขาพยายามปกป้องโบราณสถานด้วยกำลังเท่าที่มี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมีรถ ปืน และจำนวนคนแค่หยิบมือ เมื่อเทียบกับพวกหัวขโมยที่มีนายทุนหนุนหลังและโบราณสถานอีก 800 แห่ง ในจังหวัดนี้ที่ต้องดูแล ถ้ารัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของ

ปัญหานี้ปัจจุบันโบราณวัตถุจากอิรักถูกส่งออกไปทั่วโลก ในเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ตมีการเสนอซื้อโบราณวัตถุที่มีอายุหลายพันปีเหล่านี้ ทั้งจาก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อมีอุปสงค์เข้ามามากมาย ทำให้การขุดค้นของพวกหัวขโมยไม่เพียงจำกัดอยู่ในแบกแดดเท่านั้น พวกเขาขยายพื้นที่การขุดไปถึงเมืองเฮตรา (Hatra) ทางตอนเหนือ และเมืองเออร์ (Ur) ทางตอนใต้ของอิรัก

หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปชาวอิรักจะไม่หลงเหลือประวัติศาสตร์ และอารยธรรมของมนุษยชาติก็คงถูกทำลาย ไม่เหลือสิ่งใดไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานอีกต่อไปข้อมูล

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Robert Fisk. Special Investigation,Ž in The Independent. September 2007.

โอสเนอร์ แซร์สตัด เขียน, โสภาพรรณ รัตนัย แปล. The Hundred and One Days-101 วันนรกในแบกแดด. มติชน,  2551

เว็บไซต์ www.wikipedia.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2560