เปิดเรื่องเล่า “พระแท่น รัชกาลที่ 3” โคนต้นพิกุล วัดราชโอรส

พระแท่น รัชกาลที่ 3 โคนต้นพิกุล วัดราชโอรสฯ
พระแท่น รัชกาลที่ 3 โคนต้นพิกุล วัดราชโอรสฯ

ใครที่ไปไหว้พระหรือเที่ยวชมความงามของศิลปกรรมที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อาจเคยเห็น “พระแท่น รัชกาลที่ 3 ซึ่งอยู่โคนต้นพิกุลกันบ้าง พระแท่นดังกล่าวมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร?

วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา

วัดราชโอรสฯ เป็นวัดของชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดจอมทอง” แปลว่า มียอดเป็นสีทอง (ด้วยทองคำเปลว) หรือเป็นทองก็ได้ เช่น หุ้มด้วยทองคำ ทองแดง หรือทองสัมฤทธิ์

Advertisement

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระชันษาขณะนั้นราว 29-30 ปี ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งวัด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2360 กระทั่งสำเร็จฉลองวัดใน พ.ศ. 2374 ซึ่งเป็นเวลาที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 แล้ว

พระแท่น รัชกาลที่ 3 แผนที่กรุงเทพฯ
แผนที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 3 (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

“วัดราชโอรส” หมายถึง วัดของลูกชายพระเจ้าแผ่นดิน เนื่องจาก “ราชโอรส” แปลว่าลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ จึงทรงให้นามวัดอย่างเป็นทางการว่า วัดราชโอรส เพราะพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั่นเอง

จอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่คนไทยเรียกให้เข้าสำเนียงว่า “ยอน การะฟัด” นักการทูตชาวอังกฤษ ที่เดินทางเข้ามายังสยามสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เห็นการก่อสร้างวัดราชโอรสฯ และกล่าวถึงไว้ในบันทึกลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2365 ว่า

“ตามบรรดาวัดที่เราได้เห็นมาแล้วในกรุงเทพฯ ไม่มีวัดไหนจะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้ ขณะที่เราไปนั้นวัดกำลังก่อสร้างอยู่ เราได้มีโอกาสเห็นลำดับแห่งการก่อสร้าง เช่น องค์พระประธาน ก็เห็นหล่อขึ้นแล้ว แต่บางส่วนวางเรียงรายอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง รอไว้ประกอบเมื่อภายหลัง ได้ทราบว่าโลหะที่ใช้ในการนี้ คือ ดีบุก สังกะสี ทองแดง เจือด้วยธาตุอื่นๆ อีกบ้างโดยไม่มีส่วนที่แน่นอนเพราะจักเป็นการยากอยู่บ้างที่จะกำหนดส่วน”

พระแท่น รัชกาลที่ 3 ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

พระแท่น รัชกาลที่ 3

มีคำบอกเล่าเกี่ยวกับพระแท่นที่ประทับ ที่ “โคนต้นพิกุล” บริเวณโบสถ์วัดราชโอรสฯ เรื่องหนึ่งว่า

ในบริเวณกำแพงแก้วที่ลานมุมซ้ายด้านหน้าโบสถ์ มีต้นพิกุลใหญ่ต้นหนึ่ง เล่ากันมาว่า เมื่อรัชกาลที่ 3 ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จมาคุมงานก่อสร้าง หรือตรวจงานก่อสร้าง หรือเสด็จประพาสวัดนี้ จะเสด็จประทับบนพระแท่นหินที่วางอยู่โคนต้นพิกุลนี้เป็นประจำ

พระองค์เคยมีรับสั่งว่า…

“ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินไปยังต้นพิกุลต้นดังกล่าว ปรากฏพระราชหัตถเลขาในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันตอนหนึ่ง ในคราวเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐิน ที่วัดราชโอรสฯ เมื่อ พ.ศ. 2427 ว่า

“…เสด็จมาประทับ ทรงจุดเทียนนมัสการที่ต้นพิกุล ที่มีเก๋งบนคาคบริมพระอุโบสถตามเช่นเคยมาทุกคราว”

เดิมทีที่ต้นพิกุลนี้มีเก๋งและบายศรีทำด้นดินเผาเคลือบจากเมืองจีนตั้งอยู่ แต่พังเสียเมื่อ พ.ศ. 2446 เพราะฝนตกหนัก เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบ จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้เป็นพระธุระสั่งให้กระทรวงโยธาธิการไปตั้งใหม่ แต่ไม่สามารถตั้งได้ เพราะเก๋งนั้นแตกหักเป็นเศษเล็กเศษน้อยไปแล้ว

แม้เวลาจะผ่านไปร้อยกว่าปีแล้ว แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระแท่น รัชกาลที่ 3 ก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการอำนวยการ. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. ย่านข้าหลวงเดิม บางขุนเทียน เส้นทางคลองประวัติศาสตร์ ฝั่งทะเลทวารวดี กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2567