อำเภอตากใบ พื้นที่ในเมืองกลันตัน ทำไมกลับมาเป็นของไทย

อำเภอตากใบ นราธิวาส วัดชลธาราสิงเห
อุโบสถวัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ ที่พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ พ.ศ. 2459 (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้)

“อำเภอตากใบ” เป็นชื่ออำเภอ 1 ใน 13 ของจังหวัดนราธิวาส จังหวัดชายแดนภาคใต้สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 253 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตของอำเภอ ทิศเหนือ ติดต่อกับอ่าวไทย, ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโกลก, ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย, ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอระแงะ และอำเภอเมืองนราธิวาส

ชื่อนี้มาจากไหน

กระแสหนึ่ง สันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายูที่ว่า “ตาบา” หรือ “ตายัล” ที่แปลว่า ราชาภิเษก ในประวัติศาสตร์ปัตตานี กล่าวถึงเมื่อครั้งนางพญาตานีจะขึ้นครองราชย์ได้เสด็จมาประกอบพพิธีราชาภิเษกที่ตาบาแห่งนี้ โดยตาบานี้เคยเป็นเมืองหน้าด่าน

Advertisement
ลักษณะภูมิประเทศ อ.ตากใบ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้)

กระแสหนึ่ง สันนิษฐานว่ามาจากชื่อของมุสลิมคนหนึ่งที่ชื่อ “ตาบา” ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นเรียกว่า “บ้านตาบา” ซึ่งแต่เดิมเป็นแขวงขึ้นกับเมืองกลันตัน แต่ด้วย บ้านตาบาตั้งอยู่ในเขตตำบลเจ๊ะเห ประชาชนส่วนใหญ่มักเรียกชุมชนว่า “บ้านเจ๊ะเห”

กระแสหนึ่งว่า ชื่อดังกล่าวหมายถึงการ “ตากใบเรือ” เพราะพื้นที่เป็นอ่าวกำบังคลื่นลมได้ดี เหมาะเป็นที่จอดเรือสำเภาจากต่างประเทศ เมื่อขนถ่ายสินค้าและตากใบเรือแล้วจึงเดินทาง

ความเป็นมาของบ้านเมือง

เมื่อเดือนมีนาคม 2452 รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษลงนามในสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2452 ใจความตอนหนึ่งว่า สยามต้องยินยอมยกดินแดนมลายู ประกอบด้วย ไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, เปอร์ลิส, รามันเขตใต้ และเกาะลังกาวี ให้แก่รัฐบาลอังกฤษ  โดยอังกฤษรับจะใช้หนี้สินทั้งหมดที่รัฐเหล่านี้มีต่อสยามแทน

หาก “ตากใบ” หรือ “เจ๊ะเห” ซึ่งมีพื้นที่ 256 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกลันตัน กลับมาขึ้นกับฝ่ายสยาม เนื่องจากฝ่ายสยามยกประเด็นเรื่องศาสนา โดยอ้างอิง “วัดชลธาราสิงเห” ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2403 (บ้างว่าปี 2416) ที่ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ ว่าเป็นวัดสำคัญของคนในท้องถิ่น เป็นมรดกทางพุทธศาสนา ประชาชนใช้ประกอบศาสนกิจมาเป็นเวลาช้านาน

วัดชลธาราสิงเห จึงรู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”

ภายในวัดชลธาราสิงเห หรือ “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”(ภาพจาก www.khaosod.co.th/)

“อำเภอ” หนึ่งในนราธิวาส

หลังผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว ราวปลายเดือนสิงหาคม 2452 รัฐบาลไทยประกาศตั้ง “ตำบลเจ๊ะเห” ขึ้นเป็น “อำเภอตากใบ” อำเภอหนึ่งของเมืองบางนรา (ปัจจุบัน คือจังหวัดนราธิวาส) มีขุนสมานธาตุวิสุทธิ์ (เปลี่ยน กาญนรันย์) เป็นนายอำเภอคนแรก

ถึงปี 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองบางนรา” เป็น “เมืองนราธิวาส” อีก 3 ปีต่อมาเปลี่ยนเป็นจังหวัดนราธิวาส ส่วนชื่ออำเภอนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตรงกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ช่วงปี 2458-2481 จึงมีชื่อใหม่ว่า “อำเภอเจ๊ะเห”

ถึงปี 2482 จึงเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ “อำเภอตากใบ” เช่นเดิม จนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์. “อำเภอตากใบ” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 6, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 6 รอบ ธันวาคม 2542.

สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529, มูลนิธิโตโยต้าสนับสนุนการจัดพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2567