ทำไมมีเมือง “อุดร” (เหนือ) อยู่ในภาค “อีสาน” (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรวจราชการ มณฑลอุดร อุดรธานี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“อุดรธานี” หนึ่งในเมืองใหญ่ของภาคอีสาน โดย “อุดร” เป็นภาษาบาลี แปลว่า ทิศเหนือ ส่วน “อีสาน” (บาลีเช่นกัน) แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อก่อนผู้เขียนเคยคิดเล่น ๆ ว่า ทำไมจังหวัด “อุดรธานี” จึงเป็นส่วนหนึ่งของภาคอีสาน ในเมื่อชื่อก็แปลว่า เมืองเหนือ (ธานี แปลว่า เมือง) ทำไมไม่อยู่ภาคเหนือ แต่มาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Advertisement

คำตอบของเรื่องนี้ที่เห็นตำตาเมื่อพินิจแผนที่ประเทศไทยคือ “ที่ตั้ง” ของอุดรธานีเป็นส่วนหนึ่งของภาคอีสานจริง ๆ แต่ประเด็นหลักของเรื่องนี้แท้จริงแล้วอยู่ที่ “ชื่อ” ต่างหาก ทำไมอุดรธานีถึงได้ชื่อบ้านนามเมืองนี้มา?

เราอาจต้องไล่ดูกันตั้งแต่ประวัติศาสตร์กำเนิดเมืองอุดรธานีเสียหน่อย

กำเนิดอุดรธานี

เมืองอุดรถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมบริเวณที่ปัจจุบันคือตัวเมืองเป็นเพียงชุมชนชื่อ “หมากแข้ง” หรือ บ้านเดื่อหมากแข้ง อยู่ในสังกัดเมืองหนองคาย มณฑลลาวพวน ผู้มีบทบาทสำคัญต่อสร้างเมืองอุดรฯ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4

อนุสาวรีย์ กรมหลวงประจักษ์ อุดรธานี
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ ณ บริเวณห้าแยกเยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2555)

เมื่อ พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จยกทัพไปปราบพวกฮ่อร่วมกับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) คราวนั้นกรมหลวงประจักษ์ฯ ได้ผ่านเมืองหนองคายไปปราบฮ่อที่เมืองพวนในลาว

ศึกปราบฮ่อดำเนินไปท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสยามกับฝรั่งเศส กรณีหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ที่ขณะนั้นยังขึ้นต่อสยาม รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นข้าหลวงประจำอยู่หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ อันมีเมืองสำคัญคือ เวียงจันทน์ หนองคาย ฯลฯ

กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสพรากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจากสยามได้สำเร็จ หนึ่งในข้อตกลงที่ฝรั่งเศสกำหนดคือ ห้ามมีด่านหรือค่ายในระยะ 25 กิโลเมตร บนฝั่งขวาฟากตะวันตกของแม่น้ำโขง (ฝั่งภาคอีสาน)

พ.ศ. 2436 กองบัญชาการของกรมหลวงประจักษ์ฯ จึงถอนกำลังจากเมืองหนองคายลงใต้ แล้วได้ “บ้านเดื่อหมากแข้ง” เป็นที่ตั้งใหม่ เพราะนอกจากจะอยู่นอกรัศมี 25 กิโลเมตรแล้ว บ้านเดื่อหมากแข้งยังอยู่ระหว่างเมืองสำคัญอย่างหนองคาย ขอนแก่น หนองหาน กุมภวาปี และกมุทธาไสย (หนองบัวลำภู) ด้วย

กองบัญชาการของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมที่บ้านเดื่อหมากแข้งนี่เอง คือต้นกำเนิดเมืองอุดรธานี

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านน่าจะสะดุดเข้ากับคำสำคัญอย่าง “หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ” บ้างแล้ว เพราะมันจะพัฒนาไปสู่ชื่อบ้านนามเมือง “อุดรธานี” ในเวลาต่อมา

รูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5  “มณฑลลาวพวน” ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย นครพนม รวมถึงอุดรธานี ได้กลายเป็นหัวเมืองลาว “ฝ่ายเหนือ” ที่ยังเหลืออยู่ หลังเสียเวียงจันทน์และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปแล้ว จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลฝ่ายเหนือ” ใน พ.ศ. 2442

ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำบาลีให้มีระดับทางภาษาเป็น “มณฑลอุดร” ใน พ.ศ. 2443 เรียกว่าลดความเป็นลาวเพิ่มความเป็นไทย (ด้วยการใช้ภาษาบาลี)

แผนที่ ภาคอีสาน สมัยรัชกาลที่ 5
ส่วนหนึ่งของแผนที่ราชอาณาจักรสยามและอาณาจักรในปกครอง สมัยรัชกาลที่ 5 โดยการสำรวจของรัฐบาลสยามภายใต้การกำกับดูแลของ เจ. แม็กคาร์ธี (J. McCarthy) จะเห็นการแบ่งหัวเมืองลาวภาคอีสานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ มณฑลฝ่ายเหนือ (อุดร) มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบล) และมณฑลราชสีมา (โคราช) (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ต่อมาเมื่อมีการยุบเลิกระบบมณฑล จึงรวมเอาเมืองกมุทธาไสย กุมภวาปี หนองหาน เข้าด้วยกัน มีศูนย์กลางที่บ้านเดื่อหมากแข้ง เป็นเมืองอุดรธานี ใน พ.ศ. 2450 และกลายเป็นจังหวัดอุดรธานีใน พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความหมาย “เมืองเหนือ” ของอุดรธานี จึงไม่เกี่ยวกับ “ภาคเหนือ” ของไทย แต่หมายถึงการเป็น (อดีต) ศูนย์กลางหัวเมืองลาว “ฝ่ายเหนือ” ของสยามครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

https://www.silpa-mag.com/history/article_77454

https://udonthani.go.th/main/history/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2567