ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ 70 ปี (พ.ศ. 2489-2559) ซึ่งนับตั้งแต่ต้นรัชกาลของพระองค์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ต่างรายงานข่าวพระราชกรณียกิจรายวันเรื่อยมา ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ก็เผยแพร่ “รูปภาพในหลวง” ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ ให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมี
พระบรมฉายาลักษณ์ “รูปภาพในหลวง”
ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2493 สิ่งตีพิมพ์ๆ เช่น นิตยสาร, วารสาร, สูจิบัตร ต่างเผยแพร่ภาพพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เช่น การเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในวันสำคัญทางศาสนา, การพระราชทานปริญญาบัตร, การพระราชทานพรปีใหม่, การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ
ภาพเหล่านี้ที่มีทั้งสีและขาวดำ บันทึกโดยช่างภาพประจำราชสำนัก และช่างภาพนิรนาม ซึ่งช่างภาพที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่ติดตามฉายพระบรมฉายาลักษณ์คือ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย-บันทึกภาพพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์, นายแก้วขวัญ วัชโรทัย-ถ่ายทำภาพยนตร์ ต่อมาใน พ.ศ. 2494 พระราชกรณียกิจมีมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายอาณัติ บุนนาค เป็นช่างภาพส่วนพระองค์
แต่เนื่องจากทีมงานในห้องมืดยังมีไม่มากนัก ดังนั้น ฟิล์มภาพถ่ายส่วนใหญ่จะส่งไปล้าง, อัด และขยาย ที่ “ร้านจงมั่นคง” ซึ่งมี นายเชาว์และนายจิตต์ จงมั่นคง เป็นผู้ล้างอัดและขยายภาพ จนกระทั่ง พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา การล้างฟิล์ม, อัด และขยายภาพทั้งหมด จึงจัดทำในห้องปฏิบัติการของส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ทั้งหมด
พระบรมสาทิสลักษณ์
ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นิยมนำ “พระบรมฉายาลักษณ์” และ “พระบรมสาทิสลักษณ์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาออกแบบและพิมพ์บนตราไปรษณียากร (แสตมป์) เช่น แสตมป์ที่ระลึกถึงวันทรงบรรลุนิติภาวะของในหลวงรัชกาลที่ 9 พิมพ์ออกจำหน่ายใน พ.ศ. 2490, แสตมป์ชุดบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493 ฯลฯ
โดยเฉพาะ แสตมป์พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เป็นลักษณะลายเส้น ในแต่ละช่วงของพระชนมายุ ซึ่งเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก
“รูปภาพในหลวง” ที่แพร่หลายเช่นนั้น แสดงภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เริ่มกลับมาสู่กระแสนิยมและเป็นศูนย์กลางของวิถีประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และกรณีไปรษณียากรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์/พระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เช่นนี้จึงมีคำพูดที่ว่า ภาพหนึ่งภาพ อาจแทนคำพูดได้นับพันนับหมื่นคำ
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. “ประวัติ ‘หนังสือประวัติการณ์’ ประจำรัชกาลที่ 9 ถือกำเนิดจาก ‘ภาพถ่าย’ ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2560.
เผยพ่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2567