ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“งานแซยิด” เป็น “วันเกิด” เมื่อมีอายุครบ 5 รอบนักษัตร หรือ 60 ปีบริบูรณ์ตามคติของจีน ถือเป็นวันเกิดครั้งสำคัญ ยิ่งเป็นงานของขุนนางชั้นสูงอย่าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ “สมเด็จช่วง” งานจึงทวีความสำคัญตามบารมีของเจ้าของวันเกิด จนรัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งว่า “งานแซยิดสมเด็จช่วง” ใหญ่โต แต่งานเฉลิมพระชนมพรรษากร่อย
สมเด็จช่วง (23 ธันวาคม 2351-19 มกราคม 2425) เป็นบุตรคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน ในรัชกาลที่ 4 สมเด็จช่วงเป็นว่าที่สมุหกลาโหม และสมุหกลาโหมต่อจากบิดาของท่าน สมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ เป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์” ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416
เช่นนี้ งานแซยิดสมเด็จช่วง ซึ่งจัดในราว พ.ศ. 2411 จึงเป็นงานใหญ่ ที่ทั้งเจ้านายและขุนนางจำนวนไม่ไปเพื่อร่วมแสดงความยินดี ที่สำคัญคือต้องให้เจ้าภาพเห็นว่าตนไปร่วมงาน

งานแซยิดสมเด็จช่วง
งานดังกล่าวใหญ่โตเพียงใด พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า
“เมื่อสมเด็จเจ้าพระยา [สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)] อายุห้าสิบเอ็ด คือห้าสิบถ้วน พวกจีนที่ประจบฝากตัวอยู่ทั่วกัน จะแนะนำขอร้องให้ทำอย่างไร จึงได้ทำกันขึ้นเป็นครั้งแรก
…ดูการที่ทำบุญสุนทันอย่างไรก็เล็กน้อย เป็นแต่ประชุมคนแสดงเกียรติยศให้ปรากฏว่ามีผู้นับถือมาก ตั้งโรงครัวเลี้ยงกันไปวันยังค่ำๆ แล้วมีละคร และผู้ใดที่นับถือก็มีของไปช่วยไปให้กันอย่างของกำนัล
การโรงครัวก็ไม่ต้องออกเงินออกทองอันใด เมื่อผู้ใดได้บังคับการกรมใดมีเจ้าภาษีสำหรับกรม ก็เกณฑ์เจ้าภาษีนั้นมาเลี้ยง แล้วขอแรงตั้งโต๊ะอวดป้านกันบ้าง เป็นการสนุกสนานครึกครื้นกันมาก ไม่เงียบๆ กร่อยๆ เหมือนการหลวง
จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็พลอยพระราชทานของขวัญตามทางคำนวณวันเดือนปี ที่โปรดทรงคำนวณอยู่ คือพระราชทานทองทศเท่าปี เงินบาทเท่าจำนวนเดือน อัฐตะกั่วเท่าจำนวนวัน สำหรับให้ไปแจกจ่ายทำบุญ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พรด้วย แต่ทองเงินอัฐเหล่านั้น ก็ไม่เห็นใช้ในการบุญอันใด…
…เมื่อถึงงานแซยิดใครๆ ก็เป็นการเล่าลือกันไปหมู่ใหญ่ ตั้งแต่เริ่มงานจนงานแล้ว ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถึงเจ้านายลูกเธอต้องออกไปนอนค้างอ้างแรมกันก็มี เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ไม่มีผู้ใดขาดได้
ถ้าไม่ช่วยงานแซยิดกันแล้วดูเหมือนเกือบไม่ดูเผาผีกันทีเดียว เมื่องานข้างนอกๆ เป็นการใหญ่โตอยู่เช่นนี้ แต่การเฉลิมพระชนม์พรรษาในพระบรมมหาราชวังกร่อยอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่แต่จะมาเฝ้าก็ไม่มี เพราะการที่ทรงนั้นเป็นคนละอย่างกันกับที่เขาทำๆ กันอยู่” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
งานแซยิด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ใหญ่โตเช่นนี้ จึงสะท้อนอำนาจบารมีเจ้าของงานได้ทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จช่วง ขุนนางผู้ “ทรงอิทธิพล” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- แก้ต่างให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เรื่องโคมระย้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เคยปฏิเสธรัชกาลที่ 5 ไม่ยอมเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน, พิมพ์ครั้งที่ 1 องค์การค้าคุรุสภา.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2567