ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“การประกาศเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก” เริ่มปรากฏครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ และเป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องจวบจนปัจจุบัน
คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีเสร็จสิ้นลง ก็มี “การประกาศเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก”
ขั้นตอนดังกล่าวเริ่มจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานเสด็จฯ โดยกระบวนราบใหญ่เพื่อไปประกอบพิธี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นเสด็จถึงสถานที่แห่งนั้นทรงจุดธูปเทียน และถวายต้นไม้ทองต้นไม้เงินบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชถวายศีล ทรงสมาทานศีล แล้วทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก สมเด็จพระราชาคณะทั้ง ๘๐ รูป กล่าวสาธุพร้อมกัน ๓ ครั้ง เสร็จแล้ว สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายพระพรลา
หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนต่อเนื่องกันคือ การถวายเครื่องราชสักการะแด่อดีตบูรพมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถวายเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิภายในหอพระธาตุมณเฑียร
อนึ่ง การประกาศทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก มีความหมายถึงผู้ทำนุบำรุงศาสนาทั้งปวง โดยทรงเกื้อกูลค้ำจุนทุกศาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภารอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ด้วยทรงเชื่อว่าทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี และร่วมกันสร้างสรรค์ทำความดี คือการก่อเกิดสังคมที่ดี
อ้างอิง
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๖๒.
https://www.royaloffice.th