บทบาทและภาพลักษณ์ใหม่ “พระราชินีไทย” ในยุคโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2503 (ภาพจากหนังสือ "ประมวลภาพเสด็จฯ เยือน 17 ประเทศ ฉบับทูลเกล้าฯ ถวาย" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ. 2503)

ภาพที่คุ้นตาประชาชนไทยส่วนใหญ่ภาพหนึ่ง คงหนีไม่พ้นภาพการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ต่างๆ เคียงคู่กัน

บทบาทและภาพลักษณ์ของพระองค์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แตกต่างไปจากพระอัครมเหสีองค์ก่อนๆหรือไม่อย่างไร

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 วีระยุทธ ปีสาลี เขียนถึงบทบาทและภาพลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ในบทความชื่อว่า ‘The King with the Smile at His Side’ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 กับการเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทศวรรษ 2490-2500”

แต่เดิมในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือยุคจารีต เจ้านายทุกพระองค์ทรงดำเนินชีวิตภายใต้กฎมณเฑียรบาลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชสำนักฝ่ายใน เจ้านายหลายพระองค์จะประทับและรับรองแขกในเขตพระราชฐาน มากกว่าการออกมาสู่พื้นที่สาธารณะพบปะผู้อื่นได้

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวถึงการเก็บพระองค์ของสมเด็จพระอัครมเหสี ความว่า

“พระอัครมเหสีมีช้างพระที่นั่งกับเรือพระที่นั่งสำหรับทรงและมีขุนนางเจ้าพนักงานบำรุงรักษาฉลองพระเดชพระคุณและโดยเสด็จพระราชดำเนิน ยามเสด็จประพาสที่ใดๆ มีแต่เฉพาะนางกำนัลกับขันทีเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นพระนาง ด้วยพระนางทรงซ่อนพระวรกายจากสายตาของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง

เมื่อเสด็จออกประพาสทางสถลมารคโดยช้างพระที่นั่ง หรือทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งก็ตาม พระนางย่อมประทับในกูบหรือในเก๋งมีพระวิสูตรกั้นพอให้พระนางทอดพระเนตรเห็นอะไรๆได้ แต่บุคคลที่อยู่ภายนอกจะมองไม่เห็นพระโฉมเลย และเพื่อให้เป็นการแสดงความเคารพก็มีธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าแม้เวลาพระนางเสด็จผ่านมา และไม่ทันจะเลี่ยงให้พ้นได้ ก็จะหันหลังให้แก่พระนางและหมอบก้มหน้าลงเสีย”

บทบาทของพระอัครมเหสีเริ่มมีมากขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเริ่มมีอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา เจ้านายจากยุโรปเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีมากขึ้น ราชสำนักจึงลดหย่อนธรรมเนียมลง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี เสด็จต้อนรับแขกเมืองด้วย โดยเสด็จต้อนรับอยู่ในห้องรับแขกส่วนตัวของพระองค์ และมีโอกาสตามเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีในต่างประเทศบ้างในบางวโรกาส แต่ยังคงปฏิบัติพระองค์ตามอย่างเจ้านายแบบจารีตอยู่

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระมเหสีบ่อยครั้งขึ้น กระทั่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 วีระยุทธอธิบายไว้ว่า

“รัชกาลที่ 7 ในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับสมเด็จพระอัครมเหสีหลายประการ สังเกตได้จากพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชินีในโลกตะวันตก พระราชจริยวัตรหลายประการสะท้อนความเป็นสากล”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน พ.ศ. 2498 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ พ.ศ. 2547)การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้พระอัครมเหสีมีบทบาทเคียงคู่กับพระมหากษัตริย์มากขึ้นในการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณีกิจต่างๆ และเด่นชัดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกภูมิภาค โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

“การเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีและประทับพระราชอาสน์ร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเฉกเช่นสมเด็จพระบรมราชินีในโลกสมัยใหม่”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นกันเองกับราษฎร โดยลดหย่อนจารีตแบบเดิมที่เคร่งครัดในการใช้คำราชาศัพท์ ตามบันทึกของท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ บันทึกไว้ว่า

“ในรายผู้เฒ่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ก็จะทรงเรียกว่า ‘ยาย’ หรือ ‘พ่อเฒ่า’ แม้แต่ภาษาก็ไม่มีราชาศัพท์ มีสิทธิ์พูดทุกอย่างที่อยากพูด บางคนเรียกพระองค์ท่านว่า ‘พ่อ’ และ ‘แม่’  เช่น จะกราบบังคมทูลว่า ‘แม่สวยเหลือเกิน ขอให้แม่อายุมั่นขวัญยืนเถิดนะแม่นะ’”

การวางพระองค์อย่างเป็นกันเองของสมเด็จพระบรมราชินีไทยนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่มิได้ทรงวางพระองค์เป็นนางกษัตริย์แบบจารีตอีกต่อไป ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์เข้าถึงราษฎรได้มากขึ้น โดยเฉพาะราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2503 ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ รับเสด็จ(ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2547)

นอกจากนั้น ทั้งสองพระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ โดยพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ในแถบเพื่อนบ้านทวีปเอเชีย และต่อด้วยการเยือนยุโรปในปี พ.ศ. 2503 รวมทั้งหมด 14 ประเทศ

วีระยุทธอธิบายถึงเหตุการณ์นี้ว่า “การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศแต่ละครั้ง ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งของไทยและต่างประเทศที่ลงข่าวและภาพพระราชกรณียกิจของทั้ง ๒ พระองค์ นับว่าเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติ”

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ  ของทั้งสองพระองค์ เนื่องจากสภาพการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้นอยู่ในยุคสงครามเย็น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของพระมหากษัตริย์และพระราชินีจึงเป็นการแสดงจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อสภาวะสงครามเย็น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาและโลกเสรี “สถาบันกษัตริย์จึงมีบทบาทสำคัญในการสานสัมพันธไมตรี แสดงอัตลักษณ์ และสร้างตัวตนของไทยในสังคมระหว่างประเทศ”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทในการตามเสด็จและทรงเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้กับนานาประเทศได้รู้จัก ซึ่งพระองค์ทรงได้รับคำชมเชยทั้งจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้สื่อข่าวของทุกประเทศ

การเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 นั้น แสดงให้เห็นถึง “บทบาทใหม่ของสมเด็จพระบรมราชินีของไทยในเวทีนานาชาติ” ซึ่งพระองค์ทรงมีภาพลักษณ์เป็น “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” อีกบทบาทด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ รวมถึงรายละเอียดอีกมากมายที่วีระยุทธชี้ว่านำไปสู่ภาพลักษณ์ของความเป็น “ไทย” ในสายตาชาวโลก และภาพลักษณ์ของความเป็น “แม่” ในสายตาประชาราษฎร์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น คงต้องให้ท่านผู้อ่านติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคมนี้

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม ๒๕๖๐