รู้หรือไม่ “สวนลุมพินี” ก่อนเป็นสวนสาธารณะ เคยเป็น “สวนสนุก” มาก่อน  

พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง หรือ เทียบ อัศวรักษ์ สวนสนุกในลุมพินี
พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์)

สวนสนุก (ในลุมพินี) คือชื่ออย่างเป็นทางการของกิจการ “สวนสนุก” ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของ “สวนลุมพินี” ที่กระทรวงมหาดไทยผู้ดูแลสวนลุมพินีขณะนั้น แบ่งให้พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) เช่าทำสวนสนุก เพื่อหารายได้มาใช้พัฒนาสวนลุมพินี

สวนสนุก (ในลุมพินี)

สวนสนุก (ในลุมพินี) เป็นสวนสนุกแบบสวนพักผ่อนหย่อนใจ (แบบ “ป๊ากสามเสน” สวนสนุกแห่งแรกของไทย) เปิดบริการเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ภายในสวนสนุกประกอบด้วย โรงละครขนาดใหญ่, เวทีแสดงมหรสพส่วนกลาง, สนามกีฬากลางแจ้ง, สนามกีฬาในร่ม, ที่เล่นกีฬาทางน้ำ, พื้นที่แสดงละครสัตว์, เครื่องสนุก เช่น ม้าหมุน

สวนสนุก (ในลุมพินี) ยังมีลักษณะคล้ายกับงานเทศกาล หรืองานวัดในกรุงเทพฯ คือ มีการออกร้านให้เล่นการพนันต่างๆ อย่างแข่งม้า, เล่นไพ่, ชนไก่, กัดปลา และมีกิจกรรมในโอกาสพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เพื่อดึงดูดผู้คนมาใช้บริการ อาทิ ช่วงเทศกาลปีใหม่ สวนสนุกฯ จัดการพนันจับสลากแจกรางวัลให้กับผู้ซื้อบัตรผ่านประตูในราคา 25 สตางค์ (จากราคาปกติ 10 สตางค์) โดยมีของรางวัลแตกต่างไปตามกระดาษภายในซองชิงโชคที่ได้รับ เช่น เครื่องทอง, เครื่องเงิน ถ้วยชาม ฯลฯ

การจับสลากดังกล่าวจึงเป็น “การพนัน” ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2473 ต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการ ซึ่งพระยาคทาธรบดีฯ ขออนุญาตจากนครบาลให้มีการพนันจับสลากดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง เช่น

วันที่ 5 มีนาคม ปี 2473 เพื่อขอจัดการพนันจับสลาก วันที่ 1-2 เมษายน ปี 2474 ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ไทย

วันที่ 1 ธันวาคม ปี 2474 ยื่นเรื่องขออนุญาต ระหว่างวันที่ 1-2 มกราคม ปี 2475 ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่สากล ด้วยรูปแบบเดียวกับครั้งก่อน แต่ครั้งนี้นครบาลทักท้วงว่าให้จัดได้ปีละครั้ง พระยาคทาธรบดีฯ จึงแจ้งว่า หากจัดครั้งนี้แล้ว ปีใหม่ในเดือนเมษายน ปี 2475 ก็จะไม่จัด จึงได้รับอนุญาต

หากวันที่ 24 มกราคม ปี 2475 พระยาคทาธรบดีฯ ก็ยื่นขออนุญาตแจกของขวัญแก่ประชาชนที่มาเที่ยวสวนสนุก ในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ปี 2475 ซึ่งเข้าข่ายการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2473 แต่ไม่ได้รับอนุญาต

สวนลุมพินี เคย เป็น สวนสนุก (ในลุมพินี) สยามรัฐพิพิธภัณฑ์
ภาพมุมสูง สวนลุมพินี เมื่อครั้งเป็นสถานที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อไม่ได้รับอนุญาต ในเดือนต่อมาคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2475 พระยาคทาธรบดีฯ จึงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเดือดร้อนที่ไม่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้แจก “ของขวัญสิ่งละอันพันละน้อย” ตามรูปแบบการพนันจับสลาก และกล่าวถึงภาระสวนสนุกที่ตนเองดูแลอยู่ ในเชิงขอความเห็นใจว่า

สวนสนุกนี้สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของคนไทย มิได้เข้าหุ้นกับคนต่างประเทศ ซึ่งตามสัญญาที่ทำไว้กับทางการ มีค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาสวนลุมพินีประมาณ 3,000 บาท/ปี เพื่อถางหญ้า ปรับถนนให้เรียบ ดูแลไฟฟ้าส่องสว่าง รักษาความสะอาดของศาลและสวน ฯลฯ

ขณะที่รายได้จากการเล่นมหรสพ การแข่งขันชกมวยในสวนสนุกก็พอเลี้ยงตัวเท่านั้น เมื่อรัฐเปิดให้มีแข่งขันชกมวยในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี รายได้จากการชกมวยของสวนสนุกก็ยิ่งลดลง ทำให้รายได้ไม่พอ ต้องชักทุนมาทบ จึงมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเกี่ยวกับการพนัน เพื่อดึงผู้คนและเพิ่มรายได้

ดูเหมือนว่าคำชี้แจงของพระยาคทาธรบดีฯ ไม่เป็นผล สุดท้ายสวนสนุกก็ต้องปิดกิจการ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยต้องการใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็น “สวนสาธารณะ” สำหรับประชาชน เมื่อสัญญาของสวนสนุกหมดอายุในเดือนเมษายน ปี 2477 จึงไม่มีการต่อสัญญา

สวนสนุก (ในลุมพินี) จึงเหลือเรื่องราวเป็นตำนานด้วยเหตุนี้

กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )
กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภาสวร สังข์ศร. สวนสนุก: การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2470-2540, วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559.

กุณฑิญา จิริวาธวัช. “ธีมพาร์คในประเทศไทย: พัฒนาการและปัจจัยสู่ความสำเร็จ” ใน, วารศิลปศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม -ธันวาคม 2560 )มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ 1 สิงหาคม 2567