สยามรัฐพิพิธภัณฑ์-Expo นานาชาติยุคแรกของไทย สมัยรัชกาลที่ 6

สวนลุมพินี เคย เป็น สวนสนุก (ในลุมพินี) สยามรัฐพิพิธภัณฑ์
ภาพมุมสูง สวนลุมพินี เมื่อครั้งเป็นสถานที่จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สมัยรัชกาลที่ 6

ธรรมเนียมการจัดแสดง “มหกรรม” เพื่อแสดงความก้าวหน้า หรือสิ่งของแปลกใหม่นี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2394 ที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีการนำสิ่งของจากประเทศอื่นๆ มารวมจัดแสดงในลักษณะของมหกรรมนานาชาติ (International Exhibition) งานประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นต้นแบบการจัดมหกรรมนานาชาติ ที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ

ประเทศไทยก็เคยไปร่วมงานในลักษณะดังกล่าว เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ไทยส่งสิ่งของไปร่วม Paris EXPO 1900 (The Paris Exposition Universelle of 1900 ) หรืองานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส พ.ศ. 2443 ในประเทศไทยก็เคยมีการจัดงานมหกรรมระดับชาติ เช่น งานสมโภชพระนครครอบ 100 ที่ที่ท้องสนามหลวง, งานงานนักขัตฤกษ์ประจําปีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ฯลฯ

Advertisement

แต่งานมหกรรมระดับนานาชาติงานแรกในประเทศคาดว่าเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริให้จัดงานมหกรรรมนานาชาติเช่นในต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” (The Siamese Kingdom Exhibition) ซึ่งถือเป็นงานใหญ่มาก นอกจากเพื่อนำเสนอความเจริญของสยามในด้านต่างๆ ยังเป็นการเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี เสมอด้วยรัชพรรษาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในการจัดงานครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นสภานายกของคณะกรรมการจัดงาน เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมราชวงศ์เฟื้อ ฟึ่งบุญ) ทำหน้าที่อุปนายก กำหนดเวลาจัดงานระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2468 ส่วนงานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศาลาแดง หรือ “สวนลุมพินี” ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เนื้อที่ 360 ไร่

ช่วงที่กำลังจัดเตรีมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์นั้น สยามกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลกระทบจากมหาสงครามในยุโรประหว่าง พ.ศ. 2457-2461 งานใหญ่อย่าง “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ที่จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจึงพยายามใช้จ่ายจากเงินของรัฐบาลน้อยที่สุด โดยจัดหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น การออกสลาก (ลอตเตอรี่) จำนวน 2 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท จำหน่ายทั่วพระราชอาณาจักร, รายได้จาการจัดงาน (ค่าบัตรผ่าน ประตู ค่าเช่าพื้นที่จัดแสดง ค่าเข้าชมมหรสพต่างๆ) และจากเงินบริจาคเพื่อร่วมสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในสวนลุมพินีเพื่อใช้ในงานครั้งนี้

ส่วนจัดแสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของงาน จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ หอหัตถกรรม ประกวดสิ่งของและจัดแสดงสิ่งของที่มีกำเนิดในสยามเท่านั้น เช่น เครื่องเรือนและงานช่างไม้ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแต่งกาย อาหารเครื่องดื่มและยาสูบ ฯลฯ, หอกสิกรรม แสดงผลงานของกรมป่าไม้ กรมแร่โลหกิจ กรมเพาะปลูก ฯลฯ, หอศิลป์ กิจกรรมการแข่งกีฬาที่ได้รับความสนใจในขณะนั้น คือ โปโล ฟุตบอล มวยไทย มวยสากล ฯลฯ,  การแสดงมหรสพและการออกร้านจำหน่ายสินค้าของเอกชน

นอกจากงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่คาดว่าจะทำให้เกิดรายได้แล้ว การเลือกใช้ทุ่งศาลาแดงเป็นสถานที่จัดงานยังช่วยให้กรุงเทพมหานครขยายตัว จากเดิมที่มีศูนย์กลางความเจริญอยู่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ การสร้างสวนลุมพินีเพื่อแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ทำให้เกิดสาธารณูปโภคพื้นฐานขึ้นรองรับความเจริญแผ่ขยายออกไปยังพื้นที่ชั้นนอกมากขึ้น เช่น การวางทางรถรางสายสามเสนให้ยาวออกไปจนถึงแยกถนนหัวลำโพงตัดกันถนนสาทร และอีกเส้นทางคือรถรางบนถนนสีลม ตั้งแต่แยกเจริญกรุงบริเวณหัวลำโพงไปถึงถนนราชดำริจนสุดทางที่ประตูน้ำสระปทุมวัน ฯลฯ

หากท้ายที่สุดสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ในพระราชดำริของรัชกาลที่ 6  กลับไม่ได้มีการจัดขึ้น เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตก่อนการเปิดงาน การจัดงานรื่นเริงขณะนั้นจึงต้องงดไป สวนลุมพินีซึ่งเดิมที่คาดหวังให้เป็นสถานที่จัดแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์จึงได้เปลี่ยนสถานะไปเป็นสวนสาธารณะแทน 


ข้อมูลจาก

กัณฐิกา กล่อมสุวรรณ. “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ใน, 230 ปี ศรีรัตนโกสินทร์ มรดกความทรงจำกรุงเทพมหานคร, โครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, 2556


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2564