ธรรมเนียม “อายุยืน” ของราชสำนักรัตนโกสินทร์ มีเกณฑ์ใดบ้าง?

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระชนมพรรษายืนนานที่สุด ธรรมเนียมอายุยืน พระราชพิธีเฉลิมสิริราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1999 ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

“อายุยืน” สำหรับบุคคลหนึ่งต้องมีอายุกี่ปี จึงกล่าวได้ว่าอายุยืน สำหรับราชสำนักรัตนโกสินทร์ มี “ธรรมเนียมอายุยืน” ที่พอสรุปได้ดังนี้

ธรรมเนียมอายุยืนกรุงรัตนโกสินทร์

หนึ่ง ถือเกณฑ์อายุ 50 ปี เกณฑ์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นคว้าเปรียบเทียบจากตำราและคติความเชื่อในศาสนาต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า “…อายุยืน เห็นจะนับตั้งแต่มีชีวิตอยู่ได้ถึง 50 ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์” 

เมื่อยึด “ธรรมเนียมอายุยืน” นี้เทียบตามเกณฑ์ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ผ่านมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระชนมายุเกิน 50 พรรษา มีอยู่ 6 พระองค์ ได้แก่ รัชกาลที่ 1 พระชนมายุ 73 พรรษา, รัชกาลที่ 2 พระชนมายุ 58 พรรษา, รัชกาลที่ 3 พระชนมายุ 64 พรรษา, รัชกาลที่ 4 พระชนมายุ 65 พรรษา, รัชกาลที่ 5 พระชนมายุ 58 พรรษา และรัชกาลที่ 9 พระชนมมายุ 88 พรรษา

หนึ่ง ถือเกณฑ์อายุ 60 ปี อย่างจีน ที่เรียกว่า “แซยิด” โดยงานแซยิดครั้งแรกของราชสำนักรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปีชวด พ.ศ. 2407 มีการจัดงานแซยิดใหญ่ ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม พ.ศ. 2407

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 บันทึกพระราชดำริของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “ครั้นมาถึงเดือน 11 ทรงพระราชดำริว่า พระชนมพรรษาครบเต็มบริบูรณ์ 60 จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างใหญ่เหมือนพระเจ้าแผ่นดินเมืองจีนและเมืองยุโรปเขาทำเป็นการใหญ่ตามวิสัยเขา”

คราวนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ป่าวร้องให้เจ้านาย ขุนนาง และราษฎร ทำบุญเลี้ยงพระทุกวังทุกบ้าน แล้วให้จุดประทีปตามวังตามบ้านทั่วไป

เมื่อเทียบเอาตามเกณฑ์นี้ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ผ่านมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระชนมายุเกิน 60 พรรษา มีอยู่ 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 1 พระชนมายุ 73 พรรษา, รัชกาลที่ 3 พระชนมายุ 64 พรรษา, รัชกาลที่ 4 พระชนมายุ 65 พรรษา และรัชกาลที่ 9 พระชนมมายุ 88 พรรษา

หนึ่ง ถือเกณฑ์อายุ 73 ปี พระบรมวงศานุวงศ์แห่งพระราชวงศ์จักรี ถือเอาพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 73 พรรษา เป็นหมุดหมายอันสำคัญยิ่ง

เนื่องจากเมื่อทรงตั้งพระราชวงศ์ขึ้นใหม่นั้น ทรงมีพระชนมพรรษาสูงกว่าเจ้านายทั้งหลาย (เว้นแต่สมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์) ครั้นเมื่อสมเด็จพระพี่นางสิ้นพระชนม์ไปก่อน รัชกาลที่ 1 จึงทรงมีพระชนมพรรษาสูงกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

เมื่อเทียบเอาตามเกณฑ์นี้ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ผ่านมาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระชนมายุเกิน 73 พรรษา มีอยู่ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 1 พระชนมายุ 73 พรรษา และรัชกาลที่ 9 พระชนมมายุ 88 พรรษา

นี่คือ “ธรรมเนียมอายุยืน” บางส่วนของราชสำนักรัตนโกสินทร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัญชา ยอดบก. “กษัตริย์อายุยืน” ใน,  ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2554.

ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567