ผู้ยุติเรื่อง “เจ้านายฝ่ายใน” ถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก งานบรมราชาภิเษก ร.6 คือใคร?

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน

“พระองค์เจ้าแม้นเขียน” ทรงเป็นผู้ยุติปัญหาฝ่ายใน “ถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงไม่พอพระราชหฤทัย เนื่องจากมีเจ้านายหลายพระองค์ทรงเสนอผู้ถวายน้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เจ้านายฝ่ายใน” ซึ่งไม่เคยมีธรรมเนียมมาก่อน  

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน (พ.ศ. 2366-2456) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก ทรงทักท้วงว่า “ในพระงานบรมราชาภิเษกไม่เคยมี ไม่ควรให้มีขึ้น ส่วนเจ้านายหญิงเคยมีแต่ถวายพระพรเท่านั้น” เรื่องดังกล่าวจึงยุติ

ถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6

ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 บันทึกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้เริ่มต้นที่ว่า

“…เมื่อครั้งบรมราชาภิเษกทูลกระหม่อมปู่ [รัชกาลที่ 4] ก็ดี, ครั้งทูลกระหม่อม [รัชกาลที่ 5] ก็ดี, ผู้ถวายน้ำเคยมีแต่พระที่เป็นผู้ทรงเคารพนับถือ, เจ้านายฝ่ายน่า, และขุนนางผู้ใหญ่บางคนเท่านั้น หาได้มีฝ่ายในถวายด้วยไม่, แต่ครั้งเมื่อทูลกระหม่อมทรงทำพระราชพิธีรัชดาภิเษก, ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายในถวายน้ำด้วย…  (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงปรึกษาหารือกับเจ้านายผู้ใหญ่ในเรื่องดังกล่าว เจ้านายผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ทรงลงความเห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงทำการพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นแบบแผนสำหรับจัดการพิธีราชาภิเษกต่อไป ซึ่งก็คือ ให้เจ้านายฝ่ายในร่วมถวายน้ำ

เรื่องนี้ขัดกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีจำนวนและรายพระนามผู้ถวายน้ำในพระราชหฤทัยเพียง 6 พระองค์

“ฉันจึ่งได้ตกลงตัดทอนจำนวนผู้ถวายน้ำให้น้อยลง, คือ พระ 2, คือกรมหลวงวชิรญาณ (อุปัชฌาย์) กับพระองค์เจ้าพระสถาพร (กรรมวาจาจารย์), ฝ่ายใน 2, คือเสด็จแม่ กับสมเด็จป้า [สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี] , ฝ่ายน่า, ทูลกระหม่อมอา (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์, กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช) แทนเจ้านาย, กับเสด็จลุง [สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ] แทนเสนาบดี”

หาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเกรงว่าจะเกิดการครหาว่าทรงเลือกแต่พระญาติสนิท จึงทูลขอให้เพิ่มพระนามเจ้านาย 3 พระองค์ คือ ฝ่ายใน ได้แก่ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ และฝ่ายหน้า คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์

กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงขอเพิ่มรายพระนาม/นาม ผู้ถวายน้ำทั้งสิ้น 15 รูป/องค์ (พระสงฆ์ 4 รูป, เจ้านายฝ่ายหน้า 4 พระองค์ และเจ้านายฝ่ายใน 7 พระองค์) ซึ่งเจ้านายฝ่ายในทั้ง 7 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
  2. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
  3. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ผู้แทนเจ้านายรัชกาลที่ 2
  5. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระอัครชายา ผู้แทนเจ้านายรัชกาลที่ 3
  6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชฐ ผู้แทนเจ้านายรัชกาลที่ 4
  7. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ผู้แทนเจ้านายรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 6 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยกับรายพระนาม/นามผู้ถวายน้ำที่จำนวนผู้ถวายน้ำมีมากถึง 15 พระองค์/คน จากที่ทรงกำหนดไว้เพียง 6 พระองค์ ทั้งยังเป็นเจ้านายฝ่ายในมากถึง 7 พระองค์ หากมิได้ทรงปฏิเสธ ด้วยเหตุว่า

“…ฉันไม่อยากให้เกิดเปนเหตุโต้แย้งกันให้รำคาญใจในระหว่างงานบรมราชาภิเษก, อีกประการ 1 ฉันขอรับสารภาพเสียโดยชื่นตาว่าในเวลานั้นฉันยังไม่รู้สึกว่าตนปีกแขงพอที่จะบินโดยลำพัง, ยังต้องอาศัยท่านผู้ใหญ่ประคบประคอง, เมื่อตกลงกันแล้ว จึ่งได้ทูลเข้าไปในให้เสด็จแม่ทรงทราบ, และขอให้ทรงช่วยนัดแนะฝ่ายในด้วย…”

พระองค์เจ้าแม้นเขียน ทรงเป็นผู้ยุติปัญหาฝ่ายในถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก

แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ทรงทักท้วงว่า “เมื่อครั้งล้นเกล้าล้นกระหม่อมในพระบรมโกษฐ์ท่านได้โปรดเกล้า ให้ถวายแต่เมื่อรัชดาภิเษกต่างหาก. ในพระงานบรมราชาภิเษกไม่เคยมี ไม่ควรให้มีขึ้น ส่วนเจ้านายหญิงเคยมีแต่ถวายพระพรเท่านั้น” 

เรื่องนี้จึงยุติลง โดยไม่มีเจ้านายฝ่ายในถวายน้ำมุรธาภิเษก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 , สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2567