เปิดไทม์ไลน์จัดระเบียบ “กองทัพบก-กองทัพเรือ” ที่ใช้เวลาถึง 3 แผ่นดิน 

รัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ กรมหมื่นนครไชยศรี พิษณุโลก กองทัพเรือ กองทัพบก
(จากซ้ายไปขวา) 1. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ 2. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 3. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ 4. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

ปัจจุบันหน่วยงานทหารทั้ง 3 กองทัพ (กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ) ล้วนขึ้นตรงกับ “กระทรวงกลาโหม” หากก่อนหน้านั้นทหารยังสังกัดมูลนายตามแบบโบราณ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มการฝึกหัดทหารแบบตะวันตกในไทย 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการปกครองบังคับบัญชาเป็นกรม กองพัน กองร้อย หมวด หมู่ โดยเริ่มจาก “กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์” เป็นกรมแรก แล้วจึงขยายออกไปเป็นหน่วยงานในกรมทหารบก 7 กรม (กรมทหารราบ 4 กรม, กรมทหารปืนใหญ่ 1 กรม, กรมทหารช้าง 1 กรม, กรมฝีพาย 1 กรม) กับกรมทหารเรืออีก 2 กรม (กรมทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี (ทหารช่างแสงเดิม) กับกรมอรสุมพล หรือทหารมารีนเดิม)

Advertisement

กรมทหารดังกล่าวแยกการปกครองบังคับบัญชาเป็นอิสระแก่กัน จนถึง พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมยุทธนาธิการ” มีผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกรมทหารบกทั้ง 7 กรม และผู้บัญชาการกรมทหารเรือเป็นผู้ทำหน้าที่บังคับบัญชากรมทหารเรือทั้ง 2 กรม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารจากประเทศต่างๆ สำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับพระนคร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัดวางโครงสร้าง กองทัพบก, กองทัพเรือตามแบบกองทัพสมัยใหม่ในยุโรป

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นจเรทัพบก ทั้ง 2 พระองค์ช่วยกันจัดวางยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของทางบก โดยจัดวางโครงสร้างอัตรากำลังกองทัพบกเป็น 10 กองพล กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร รวมการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

ส่วนกองทัพเรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทั้ง 2 พระองค์ช่วยกันพัฒนาศักยภาพนายทหารเรือไทย จนสามารถบังคับการเรือรบออกปฏิบัติการในท้องทะเล โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติ

แม้กรมยุทธนาธิการและกรมทหารเรือจะเป็นส่วนราชการ ที่การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงกลาโหม “แต่ตามความจริง ความสำเร็จเด็ดขาดในกิจการทั้งปวงได้ตกอยู่ในมือผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และผู้บัญชาการกรมทหารเรือ, เสนาบดีกระลาโหมเกือบไม่ได้มีงานอะไรทำเลย”

วันที่ 10 ธันวาคม 2453 รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้เปลี่ยนระเบียบราชการกระทรวงทหาร และได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศตั้งกระทรวงทหารบกทหารเรือในราชกิจจานุเบกษา 11 ธันวาคม 2453 มีความตอนหนึ่งว่า

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกกรมยุทธนาธิการเสีย ให้เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชาการทหารบกทั่วไปตามโบราณประเพณี รวมทั้งการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร ในน่าที่ของฝ่ายทหารนั้นด้วย แลให้ยกกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวง มีเสนาบดีบังคับบัญชาการทหารเรือทั่วไป ให้เสนาบดีมีเกียรติยศ แลตำแหน่งเสมอเสนาบดีกระทรวงอื่นๆ…” 

พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการกระทวงทหาร พ.ศ. 2453 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สภาป้องกันราชอาณาจักร” หรือที่เรียกว่า “สภาการทัพ” เป็นที่ประชุมสำคัญ โดยพระองค์ทรงเป็นประธาน ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหม, เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ, จอมพลทหารบก, จอมพลทหารเรือ ทั้งที่ประจำการและมิได้ประจำการเป็นสมาชิก ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเปลี่ยนเป็น “สภากลาโหม”

ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลที่ 7 กระทรวงทหารบกทหารเรือที่เดิมแยกกันนั้น มีพระราชดำริว่า

“…เป็นเวลาอันสมควรจะรวมราชการทหารบกทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน เพื่อให้กิจการป้องกันพระราชอาณาจักรประสานกันดีขึ้นตามสมควรแก่กาลสมัย จึ่งมีพระบรมราชโองการให้รวมราชการกระทรวงทหารเรือเข้ากับกระทรวงกลาโหม ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมมีอำนาจบังคับบัญชาราชการได้ตลอดทั้งทหารบกทหารเรือ” นับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2474

ตั้งแต่นั้นมา กระทรวงทหารบกทหารเรือก็มารวมอยู่ใน “กระทรวงกลาโหม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2567