ทวดสมภารโพธิ์ ศรัทธาแห่งนาทราย

รูปเคารพทวดสมภารโพธิ์ประดิษฐานอยู่ในศาลา

บทความชิ้นนี้นับเป็นเรื่องที่สาม สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับวัดจอมย่าและวัดจอมหลาน ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่ผู้เขียนได้พยายามค้นหาประวัติศาสตร์ของวัดทั้งสองและบริบทของชุมชนโดยรอบในอดีตนั้น กลับได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจมากประการหนึ่ง ซึ่งสามารถบ่งบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านความเชื่อความศรัทธาของผู้คนจนกลายมาเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นแห่งนี้

รูปเคารพทวดสมภารโพธิ์ เป็นปูนปั้น ทาสี ประดิษฐานอยู่ในศาลาทวดสมภารโพธิ์ (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลาทวด, หลาสมภารโพธิ์) ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างวัดหญ้า และวัดจอมล้าน (ร้าง) ด้านหน้าติดกับถนน ส่วนด้านหลังติดกับพื้นที่ของเอกชน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ลุ่ม และเชื่อมต่อกับคลองวัดหญ้าทางทิศใต้

ตามประวัตินั้นเชื่อกันว่า “ทวดสมภารโพธิ์” ท่านนี้ ก็คือ “หลานของผู้สร้างวัดจอมย่า (หรือวัดหญ้าในปัจจุบัน)” นั่นเอง เมื่อผู้เป็นย่าได้สร้างวัดจอมย่าขึ้นแล้ว ตนก็ได้ล่องเรือ (ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเรือสำเภาขนาดเล็ก) ทวนกระแสน้ำขึ้นไป เพื่อหาพื้นที่สร้างวัด แต่เมื่อล่องเรือออกไปไม่ไกลนัก เกิดกระแสน้ำไหลบ่ามาจากเทือกเขาปะทะเข้าอย่างจัง ทำให้เรือถูกซัดเข้าไปยังทางน้ำฝั่งซ้ายของคลองวัดหญ้า จนถึงสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “สระโนรี” ปัจจุบันสระน้ำบริเวณนี้ตื้นเขิน และกลายมาเป็นที่ตั้งของสนามฟุตบอลและโรงยิมโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช

แผนที่จำลองเส้นทางการเดินเรือของหลาน เพื่อหาพื้นที่สร้างวัด

เมื่อเรือเข้ามายังสระโนรี ทรัพย์สินเงินทองและข้าวของบางส่วนได้จมหายไปในสระ ส่วนทรัพย์สินที่เหลือนั้นก็ให้เร่งรีบพาขึ้นฝั่งบริเวณที่ราบทางด้านตะวันตกของสระโนรี จากนั้นท่านจึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นบริเวณนี้ และอุปสมบทเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของ “วัดจอมหลาน”

ข้อมูลจากเรื่องเล่าข้างต้นนั้น เห็นจะยึดถือเป็นหลักเสียไม่ได้ แต่ก็จะไม่ยึดถือเลยก็ไม่ได้เช่นกัน !

หลักฐานที่ช่วยยืนยันเรื่องเล่านี้ได้ดีพอสมควร คือ ซากอุโบสถของวัด ซึ่งมีลักษณะของอิฐคล้ายกับอุโบสถหลังเก่าสมัยอยุธยาที่วัดหญ้า สันนิษฐานว่าเสา และโครงหลังคาใช้วัสดุเป็นไม้ อุโบสถเปิดโล่ง ไม่มี ฝาผนังปิด เพื่อการถ่ายเทอากาศ และเป็นลักษณะทั่วไปของอุโบสถทางภาคใต้สมัยก่อน ส่วนการวางอิฐของพื้นอุโบสถไม่ทราบว่าเหมือนกันหรือไม่ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ซากอุโบสถเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงไป สำหรับการปรับพื้นที่เพื่อสร้างโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ชาวบ้านในชุมชนโดยรอบที่มีอายุ ๕๐ – ๖๐ ปีขึ้นไป ล้วนเห็นภาพการปรับพื้นที่ที่ส่งผลต่อซากอุโบสถต่อหน้าต่อตา ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างให้อภัยไม่ได้ ถึงแม้จะอ้างว่าเพื่อสร้างสถานศึกษาก็ตาม ! แต่มันควรมีทางออกที่ดีกว่านี้สิ ทางออกที่สถานศึกษาและโบราณสถานสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยยึดหลักการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีโบราณสถานที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำลายแล้วแปรสภาพจนไม่เหลือเค้าทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ นอกจากชื่อกับเรื่องเล่าที่ไร้หลักฐาน !!!

บริเวณหน้าอาคารโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของอุโบสถวัดจอมหลาน (ร้าง)

นอกจากนั้นยังมีการพบครกบดยาขนาดใหญ่ บริเวณซากอุโบสถเก่า เศษเครื่องถ้วย และทรัพย์สินอื่นๆ แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าตกอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอีกเช่นกัน เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจบ่งบอกอะไรเราได้อีกมากมาย

บริเวณโรงเรียนเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของสระโนรี

เวลาผ่านไปย่าผู้สร้างวัดจอมย่าได้เสียชีวิต ผู้เป็นหลานได้มาร่วมงาน และรู้สึกเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง จึงได้ตรอมใจและเสียชีวิตลงในบริเวณที่ตั้งศาลาทวดสมภารโพธิ์ในปัจจุบัน ชาวบ้านเชื่อกันว่าผู้เป็นหลานได้กลับชาติมาเกิดเป็นงูเผือกขนาดใหญ่มีหงอน (งูเจ้าที่ ?) คอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชน จึงได้สร้างรูปเคารพปูนปั้นเคลือบสีเนื้อ จำลองทวดสมภารโพธิ์ (ตามอุดมคติ) ในลักษณะของพระภิกษุประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิแผ่นใหญ่ ชายสังฆาฏิตัดตรงยาวลงมาจรดฐานหน้ากระดานเกลี้ยง มีการเขียนจารึกที่ฐานด้วยปากกาเคมี ว่า “…มนูญ เมืองบำรุงสร้างถวาย” ประดิษฐานในศาลาไม้ที่ผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้ง

คาดว่าหลังการสร้างวัดจอมย่าและวัดจอมหลานไปได้สักระยะหนึ่ง วัดทั้งสองได้กลายมาเป็นวัดร้างหลายครั้งหลายคราว ไร้พระภิกษุจำพรรษา และคนดูแล สำหรับในส่วนของวัดจอมย่านั้นโชคดีหน่อยที่ภายหลังได้มีพระภิกษุเข้ามาจำพรรษาและพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผิดกับวัดจอมหลานที่ร้างเหลือแต่ซากและเรื่องเล่า (อีกทั้งไม่ปรากฏนามเจ้าอาวาสหลังจากท่านสมภารโพธิ์)

ป้าเลี้ยง ผู้ดูแลศาลาทวดสมภารโพธิ์ เล่าให้ฟังว่าตอนสาวๆตนได้ไปกวาดต้นไม้แถวบริเวณศาลาทวดสมภารโพธิ์ ในคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ ก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านปรากฏให้เห็น จากนั้นเศษดิน เศษใบไม้ และขยะที่กวาดไปกองรวมกันนั้นได้หมุนเวียนคล้ายลักษณะของงูกำลังขดตัว ตนจึงขอกวาดออกดู แต่แล้วกลับต้องตะลึ่ง เมื่อเห็นเป็นหลังของงู ลักษณะผิวขาว ขนาดเท่าแขน จากนั้นทุกสิ่งอย่างที่เห็นก็ได้อันตธารหายไป ! ตนจึงเกิดความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้อุทิศตนเพื่อดูแลศาลาทวดสมภารโพธิ์

ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ บ่อยครั้งที่สัตว์เหล่านั้นล้มป่วยด้วยอาการที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านก็มักไปบ่นบานศาลกล่าวต่อทวดสมภารโพธิ์ให้สัตว์ของตนหายเป็นปกติ หลังจากนั้นไม่นานสัตว์ของชาวบ้านก็ได้หายอย่างไม่มีสาเหตุเช่นกัน ชาวบ้านจึงมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เพราะทวดสมภารโพธิ์” เมื่อสัตว์หายเป็นปกติ เจ้าของสัตว์เหล่านั้นก็ได้นำรูปปั้นหรือแกะสลักสัตว์ชนิดเดียวกับที่ได้บ่นบาน มาตั้งหน้าศาลาเพื่อเป็นการแก้บ่น ทั้งวัว ควาย ไก่ และสัตว์อื่นๆ

รูปปั้นและรูปแกะสลักสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อแก้บ่น
รูปปั้นและรูปแกะสลักสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อแก้บ่น

หวย นับเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับทวดสมภารโพธิ์ เนื่องจากชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งชาวบ้านจากแหล่งอื่น มักจะมาบ่นบานเพื่อขอเลขเด็ดๆ ขอให้ถูกหวย ถ้าสมหวังก็มาแก้บ่น ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง เพราะภายหลังจากการบ่นบานต่อทวดสมภารโพธิ์ ชาวบ้านได้ถูกหวยหลายครั้งหลายคราว (แต่ถ้าเทียบกับผิดแล้วก็คงไม่ถึง ๑ ใน ๔) ความศักดิ์สิทธ์ของทวดทวดสมภารโพธิ์จึงบังเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับในวันที่ ๒ มกราคม ของทุกปีนั้น จะมีการจัดงานบุญใหญ่ประจำท้องถิ่นที่นี้ คือ “งานทำบุญสมโภชทวดสมภารโพธิ์” ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจทำอาหารเลี้ยงเพลพระ และทำความสะอาดโดยรอบศาลา

บรรยากาศในงานทำบุญสมโภชทวดสมภารโพธิ์ (ขอบคุณภาพจาก Facebook คุณรุ่งศิรินทร์ วุฒิมานพ)

และสิ่งที่ผู้เขียนคิดเห็นว่าต้องทำเป็นอย่างยิ่ง คือ การนำบุตรหลานมาร่วมงาน “เพื่อศึกษาเรียนรู้ สืบสานวัฒนธรรม และเผยแพร่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป”

ในส่วนบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตำบลนาทรายทั้งสามเรื่องของกระผม บทความแรก “วัดหญ้า ร่องรอยพุทธศาสนสถานแห่งนาทราย” เน้นการศึกษาวิเคราะห์เรื่องเล่าการสร้างวัดจากเอกสาร และสำรวจ ทั้งโบราณสถานโบราณวัตถุภายในวัดหญ้า บทความที่สอง “เนินโบราณสถานวัดหญ้ากับหลักฐานทางโบราณคดี” เป็นบทความหลังจากการสำรวจทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ซึ่งได้พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆมากมาย และบทความที่สามชิ้นนี้ “ทวดสมภารโพธิ์ ศรัทธาแห่งนาทราย” เน้นศึกษาความเชื่อความศรัทธาของคนในท้องถิ่น

ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงอาจทำให้ผู้อ่านสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตำบลนาทรายได้ในหลายแขนง ทั้งวรรณกรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และคติชนวิทยา ตลอดจนพลวัตทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย

สุดท้ายนี้ หากบทความของผู้เขียนมีความผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้อ่านสามารถติชมหรือให้คำแนะนำได้ตามความต้องการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผลงานของผู้เขียนในอนาคต ที่มุ่งเผยแพร่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมุมเล็กๆ ในฐานะนัก(ศึกษา)ประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น !


อ้างอิงข้อมูลจาก
นางเลี้ยง วุฒิมานพ, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.
_______________, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.
พระครูใบฎีกาบรรจบ นาควโร (ชุมธรรม), สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐.