“พินัยกรรม” รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งทรัพย์สินให้พระภรรยาเจ้า-พระภรรยาอย่างไร

สาวชาววัง ในรัชกาลที่ 5 ราชสำนักฝ่ายใน นุ่งห่มสีประจำวัน
พระรูปหมู่เจ้านายฝ่ายใน (แถวหน้าจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐสารี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี (แถวหลังจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

“พินัยกรรมรัชกาลที่ 5” เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระชนมพรรษา 40 พรรษา ในฐานที่ทรงเป็น “ผู้นำครอบครัว”  ทรงตัดสินพระราชหฤทัย จัดการรายการทรัพย์สินที่มีพระราชประสงค์พระราชทานให้แก่พระภรรยาเจ้าและพระภรรยา 

เนื้อหา “พินัยกรรมรัชกาลที่ 5” นั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

Advertisement

ส่วนแรกของหนังสือที่ทำไว้ในวันที่ 23 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับ “แม่เล็ก” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ดังเนื้อหาบางตอนที่ว่า

“…ลูกและตัวแม่เล็ก ซึ่งจะอยู่บนพระที่นั่งต่อไปนั้นเป็นการไม่สมควร และเป็นไปไม่ได้ตามธรรมดา จะต้องหาเรือนให้… 

…เรือนเดิมของสุขุมาล [พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี] แลเรือนนางดารา [พระราชชายา เจ้าดารารัศมี] ซึ่งอยู่ติดต่อกันไปนั้น จะทําขึ้นเป็นเรือนอีกหมู่หนึ่งให้แม่เล็ก…แต่มาติดอยู่ด้วยเห็นว่าไม่ควรจะเอาพระราชทรัพย์มาใช้จ่ายในการทำเหย้าเรือนในวัง เมื่อมีหน้าศึกหน้าสงครามดังนี้อย่างหนึ่ง…จึงได้ตกลงระงับไว้มิได้กล่าวมิได้คิดในการที่จะทำในเวลานี้…

อีกข้อหนึ่งทรัพย์สมบัติอันใดแบ่งตอนเป็นส่วน ตั้งแต่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ตอนห้องน้ำเงินไปนั้นเป็นส่วนของแม่เล็กและลูกทั้งสิ้น โดยความสัตย์จริงจะมีที่เป็นของหลวงไปตกแต่งอยู่บ้าง คือ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เครื่องตั้งหลังตู้ และโคมกับตั้งรูปภาพพงศาวดาร ที่สุดจนรูปเขียนก็เป็นของแม่เล็กสั่งซื้อด้วยเงินของตัวเองโดยมาก…

ของส่วนที่ข้าพเจ้า [รัชกาลที่ 5] ยกให้ก็ดี ของที่แม่เล็กซื้อเองก็ดี มักจะมีเหมือนกับของแม่กลาง [สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี] และผู้อื่นบ้าง สืบได้ง่ายเพราะได้ให้เหมือนๆ กัน…ยกเสียแต่สิ่งของซึ่งได้ออกซื้อมา คือ เครื่องตั้งหลังตู้เป็นต้น ซึ่งอยู่เขตพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ห้องน้ำเงิน พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรม พระที่นั่งเทพดนัยทั้งชั้นบนชั้นล่างเป็นส่วนของแม่เล็กทั้งสิ้น

อีกข้อหนึ่งที่ชั้นต่ำพระที่นั่งบรรณาคมสรณี หรือจะมีในชั้นต่ำพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ห้องเขียวข้างซึ่งเจ้าสาย [พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ (หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์)] ได้ขึ้นมาอยู่อาศรัยในที่นั้น ข้าพเจ้ามิได้เอาสิ่งของอันหนึ่งอันใดไปตกแต่งให้เลย เป็นส่วนเขาหามาตั้งแต่งของเขาเองทั้งสิ้น จะมีปะปนอยู่บ้างก็แต่ในห้องชั้นต่ำพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ก็เป็นแต่เครื่องลายคราม ไม่สลักสำคัญอันใด…

อีกข้อหนึ่งลูกแม่เล็กซึ่งยังเป็นเด็กๆ อยู่ ไม่มีผู้ใดเลี้ยงดูแล ก็ได้อาศรัยพี่บ้าง น้องบ้าง ช่วยกันเลี้ยงดูไป ถ้าเวลาใดแม่เล็กจะได้รับอนุญาตออกไปอยู่นอกวังกับลูกพี่น้องซึ่งเลี้ยงลูกนั้น ถ้าเธอเห็นว่าสิ้นวาสนาบารมีแล้วจะทิ้งเสียก็ตาม ถ้ายังมีใจรักใคร่ จะรับเลี้ยงดูกันต่อไป จะควรเรียกหาประกันให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ…”

อีกส่วนหนึ่ง ทำไว้ในวันที่ 30 เมษายน ร.ศ. 112 เนื้อหากล่าวถึง พระภรรยาเจ้าและพระภรรยา ว่า

“ ขอแจ้งความแด่ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสันตติวงษ์สืบไปภายหน้า หรือประธานาธิบดี และเสนาบดีที่จะได้ช่วยทํานุบํารุงราชการแผ่นดินสืบไป หรือผู้หนึ่งผู้ใด…แลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งจะได้เกี่ยวข้องในการทั้งปวงนี้ให้ทราบว่า

เมื่อวันพระก่อน ข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือไว้ฉบับ 1 ซึ่งลงวันที่ 23 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 112 ยังหาสิ้นข้อความตามประสงค์ไม่…เพื่อจะเขียนหนังสือฉบับนี้เพิ่มเติมความฉบับก่อนต่อไป ขอเริ่มความว่า…

1. ทรัพย์สมบัติอันใดซึ่งข้าพเจ้าได้ยกให้แก่ลูกเมียในชั้นเจ้านาย ที่สุดจนเครื่องยศ ก็ได้ทำด้วยเงินพระคลังข้างที่ และได้ทำหนังสือมอบให้เป็นสิทธิ์ขาดไม่ใช่เป็นของเครื่องยศสําหรับแผ่นดิน ซึ่งจะคืนมาใช้ให้ผู้อื่นต่อไปอีก ส่วนเจ้านายก็ดี ส่วนเจ้าจอมมารดาที่มีลูกก็ดี ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือให้ไว้โดยมาก ว่าของสิ่งนั้นๆ ควรคืน นอกจากนั้นไม่ต้องคืน ที่ยังมิได้ทําให้บ้างก็มี ส่วนหนังสือที่ทําให้นั้นก็เป็นการล่วงมาแล้วช้านาน การจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็จําไม่ได้ถนัด แลเหลือที่จะพรรณนา…

2. บรรดาทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นที่แผ่นดิน ตึก เรือนโรง หรือส่วนผลประโยชน์อันใดอันหนึ่งซึ่ง ข้าพเจ้าได้ยกให้แก่บุตรภรรยา ย่อมมีหนังสือเป็นสลักสำคัญมอบให้ หรือถ้าไม่เป็นหนังสือของข้าพเจ้าเอง ก็มีตั๋วสําคัญ…

ขอให้ถือว่าบรรดาผลประโยชน์ อันใดอันเกิดจากที่ดินหรือตึกเรือนโรง และหนังสือสำคัญทั้งปวงซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้แก่ตัวผู้ใดผู้หนึ่งไป ผู้นั้นย่อมเป็นเจ้าของสิทธิ์ขาด…

3. บรรดาผู้ซึ่งเป็นเจ้าจอมอยู่งานตามที่ข้าพเจ้าทราบแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก็ดี แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก็ดี แผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ดี ถ้าผลัดแผ่นดินใหม่ผู้นั้นจะสมัครทำราชการอยู่ก็ดี หรือไม่สมัครทำราชการ จะออกจากราชการไปก็ดี ย่อมเรียกคืนแต่สิ่งของซึ่งเป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์สำหรับเจ้าจอม แต่สิ่งที่พระราชทานนอกนั้นหาได้เรียกคืนไม่ ผู้นั้นย่อมถือเป็นของพระราชทานสิทธิ์ขาดติดตัวไป 

…ในบัดนี้ถ้าหากว่าข้าพเจ้าตายไปแล้ว เจ้าจอมที่มีลูกก็ดี มิได้มีลูกก็ดี สิ่งของที่ข้าพเจ้าได้ยกให้นอกจากเครื่องยศ บรรดาศักดิ์สำหรับเจ้าจอม ขออย่าให้ต้องเรียกคืนเลย…”

ส่วนเหตุที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเช่นนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งว่า

“…ใช่จะกล่าวโดยความมัวเมา…ว่าจะมีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อข้าพเจ้าจนกลายเป็นกระดูก…กล่าวไว้เพราะมีความเมตตากรุณา เพราะเห็นว่าเขาต้องมาอยู่กักขังป่วยการเวลา หรือมีร่างกายอันเศร้าหมองไปไม่มากก็น้อย

ขอให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหลายนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้เสียเวลาแลเศร้าหมองในร่างกายของเขาเป็นทรัพย์สมบัติของตัวเขาสืบไป อย่าให้เป็นเช่นเมื่อเจ้านายบางราย เมียขุนนางบางราย ตามแบบเก่าซึ่งเวลาจะไปแล้ว เรียกสิ่งของที่ให้แล้วคืนทั้งสิ้น อันข้าพเจ้ามีความชิงชังอย่างยิ่งนั้นเถิด”

ในการจัดทำ “พินัยกรรมรัชกาลที่ 5” ครั้งนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร, เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ, พระองค์เจ้าไชยันตมงคล แทนเสนาบดีกระทรวงวัง และ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ลงพระนามเป็นพยาน และทำสำเนา 4 ฉบับ ให้แต่ละพระองค์รักษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประชุมพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 5 ภาคปกิณกะ 2, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567