เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ ตำนานรักราชสำนัก “เชียงตุง-เชียงใหม่” รุ่นสุดท้าย

เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ แห่ง ราชสำนักเชียงตุง สมรส กับ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่
เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่

เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ เป็นเจ้านายจาก “ราชสำนักเชียงตุง” ที่สมรสกับ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เจ้านายจาก “ราชสำนักเชียงใหม่” นับเป็นเจ้านายชั้นสูงผู้สร้างตำนานรักสองราชสำนักเป็นรุ่นสุดท้าย

รศ. สมโชติ อ๋องสกุล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ล้านนา เล่าเรื่องนี้ไว้ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546 ว่า

Advertisement

ย้อนไปเมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กองทัพเชียงใหม่ร่วมกับกองทัพสยามตีเชียงแสนได้สำเร็จ มีการเทครัวคนไทยวนจากเชียงแสนไปยังที่ต่างๆ

คราวนั้น พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้ท้าวแก่นคำนำกำลังขึ้นไปเชียงตุง เพื่อกล่อมให้เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะ เจ้าเมืองเชียงตุง ยอมสวามิภักดิ์ เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะไม่ขัดขืน และนำเจ้านาย ขุนนาง และชาวเขินจากเชียงตุงไปอยู่เชียงใหม่

ลูกๆ ทั้ง 7 คนของ เจ้าฟ้าชายสาม เจ้าหอคำเชียงตุง ยินยอมย้ายไปเชียงใหม่ เว้นเพียง เจ้ามหาขนาน (เจ้าดวงแสง) คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมไปด้วย และขอต่อสู้กับพม่าที่เมืองหลวย เมืองยาง แต่ต่อมาพม่าส่งคนของเจ้ามหาขนานมาเกลี้ยกล่อม และยกขึ้นเป็นเจ้าหอคำเชียงตุง

เมื่อเจ้ามหาขนานสิ้นแล้ว เจ้าหนานมหาพรหม ผู้เป็นบุตรชายก็ขึ้นเป็นเจ้าหอคำเชียงตุง และเมื่อเจ้าหนานมหาพรหมสิ้น เจ้าฟ้าโชติกองไท น้องชายเจ้าหนานมหาพรหมก็ขึ้นครองเชียงตุงเป็นลำดับถัดมา
หลังจากเจ้าฟ้าโชติกองไทสิ้น เจ้าหอคำเชียงตุงคนต่อไปก็คือ เจ้าฟ้าก๋องคำฟู บุตรชายเจ้าฟ้าโชติกองไท

จากนั้นตำแหน่งเจ้าหอคำเชียงตุงก็ส่งผ่านไปสู่ เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง น้องชายเจ้าฟ้าก๋องคำฟู

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงแห่ง “ราชสำนักเชียงตุง” มีชายา 6 คน และมีลูกทั้งหมด 19 คน ในจำนวนนี้มีลูก 3 คน ที่มีสายสัมพันธ์รักกับฝ่ายล้านนา คือ

เจ้าฟ้าพรหมลือ เกิดแต่แม่เจ้าปทุมมหาเทวี ผู้เป็น “เจ้าแม่เมือง” (อัครมเหสี) สมรสกับ เจ้าทิพวรรณ หลานของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13

เจ้าขุนศึก เกิดแต่เจ้านางจามฟอง สมรสกับ ธาดา พัฒนถาบุตร ธิดาคหบดีบ้านวัวลาย เชียงใหม่

เจ้านางสุคันธา เกิดแต่เจ้านางทิพย์หลวงหรือเจ้านางบัวทิพย์หลวง สมรสกับ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐเป็นพระเชษฐาต่างมารดาใน เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

เจ้านางสุคันธาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 (ปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในหอหลวงเมืองเชียงตุง มีพี่น้องร่วมมารดา 5 คนคือ เจ้านางแว่นแก้ว, เจ้านางสุคันธา, เจ้านางแว่นทิพ, เจ้าสิงห์ไชย และเจ้าแก้วเมืองมา

เจ้านายแห่งราชสำนักเชียงตุงสมรสกับเจ้าชายแห่งราชสำนักเชียงใหม่ ณ หอคำเชียงตุง มีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลงและเจ้านางปทุมมหาเทวีเป็นเจ้าภาพ เมื่อ พ.ศ. 2476 และมีร้อยเอกโรแบรด์ ข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุง ร่วมเป็นเกียรติในงานมงคลสมรส

เจ้านางสุคันธาและเจ้าอินทนนท์ ถือเป็นสายใยรักอันแน่นแฟ้นระหว่างราชสำนักเชียงตุง-เชียงใหม่ ที่เป็นรุ่นลูกรุ่นสุดท้ายของ “เจ้าหลวง” ทั้งสองครองรักอย่างยาวนาน กระทั่งเจ้าอินทนนท์สิ้นลมหายใจใน พ.ศ. 2534 สิริอายุ 81 ปี

จากนั้นเจ้านางสุคันธาได้สิ้นลมหายใจใน พ.ศ. 2546 สิริอายุ 93 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2567