ความขัดแย้ง “จุดจบ” สมาคมสตรี กับการ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” (จบ)

"การประชุมกลุ่มปฏิวัติฝรั่งเศส" (ภาพจาก POLITICAL GRAPHICS ART AS A WEAPON)

กลุ่มสตรีที่มีการรวมตัวกันที่เข้มแข็งมักออกมาทำกิจกรรมตามท้องถนนหรือยื่นฎีกาต่อสภาโดยเฉพาะการต้อต้านพรรฌิรงแดงผ่านผู้แทนจากชมรมฌาโกแบงเพื่อจะขออำนาจในการเป็นตำรวจในกระบวนการยุติธรรมหรือการรักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าสภา

หลังจากการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ความรุนแรงในการปฏิวัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปารีสระหว่างพวกฌิรงแดงและพวกฌาโกแบง ฌาโกแบงดึงพวกสตรีชั้นล่างและพวกหัวรุนแรง (Enrage´s) มาร่วมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1793 และสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จตั้งศาลปฏิวัติเพื่อลงโทษศัตรูทั้งหลาย มอบอำนาจให้คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเพื่อกำจัดศัตรูของประเทศ

Advertisement

ในวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน ค.ศ. 1793 มีการจับพวกฌิรงแดงและประหารชีวิต มานง โรลองด์ (Manon Roland) ผู้นำสตรีคนสำคัญของฌิรงแดง ซึ่งสามีของเธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ ค.ศ. 1792 หลังจากการสังหาร ฌอง ปอลล์มาราต์ (Jean-Paul Marat) โดยชาร์ลอต กอร์เดย์ (Charlotte Corday) จากเหตุการณ์นี้สตรีหลายๆ คน เริ่มมีความขัดแย้งกับพวกผู้นำมงตาญญาร์ด (Montagnards) วันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1793 หน้าชมรมฌาโกแบง ลากอมบ์ถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนพวกฌิรงแดงทำให้ถูกกักขังแต่ในที่สุดก็ถูกปล่อยตัวออกมา ฝ่ายสาธารณรัฐคงดำเนินการปราบปรามพวกที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการปฏิวัติต่อไป โดยจับกุมพวกโสเภณีและอดีตขุนนางในชนบท

สถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสตรีในสมาคมภราดรและสมาคมสาธารณะรัฐปฏิวัติซึ่งฝ่ายแรกมองว่าฝ่ายหลังเป็นตัวสร้างปัญหาทำให้สตรีสมาคมภราดรภาพประกาศต่อต้านสตรีในสมาคมสาธารณรัฐปฏิวัติ ความพยายามของพวกสตรีจากสมาคมสาธารณรัฐปฏิวัติสูญเปล่า ตัวแทนของพวกเขาได้รับเสียงโห่ไล่ในสมาคมคอนเวนชั่นและถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในคอมมูน สภาที่ปรึกษาทั่วไปไม่ยอมรับการมีตัวแทนเป็นสตรี (Devance Louis 1977 : 366)

ในขณะที่พวกผู้ชายได้เดินทางมายังสภาคอนเวนชั่นเพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสมาคมสตรี ความรุนแรงต่อต้านพวกสตรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในสภาคอนเวนชั่น เกิดการต่อต้านพวกสมาคมสาธารณรัฐปฏิวัติที่ลาฮาล (La Hall) และเรียกร้องการนำตัวพวกสตรีเข้าข้างพวกฌิรงแดงมาลงโทษในข้อหาที่ก่อความไม่สงบตามท้องถนน และเรียกร้องให้ตำรวจลับเสนอรายงานเกี่ยวกับสมาคมสตรีด้วย พวกสมาชิกสาธารณรัฐปฏิวัติมองว่าสตรีเป็นพวกบ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้และเป็นอันตรายต่อสาธารณรัฐ

จากข้อเสนอของผู้แทนฌาโกแบง ฌอง ปิแอร์ อองเดร์ อามาร์ (Jean Pierre Andre´ Amar) ในที่สุดสภามีมติให้ยุบทุกสมาคมสตรีในข้อหาที่ก่อความไม่สงบร้ายแรง ตามด้วยการออกกฤษฎีกาในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ห้ามตั้งสมาคมสตรีและห้ามไม่ให้สตรีไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองการกีดกันทางเพศเช่นนี้กระทำด้วยกำลังมีการตั้งองค์กรทางสังคมที่จะพยายามให้สังคมเป็นระเบียบพวกอนุรักษ์นิยมลงความเห็นว่า สตรีไม่เหมาะที่จะมีบทบาททางการเมือง โดยธรรมชาติและทัศนคติค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1794 การปราบปรามพวกหัวรุนแรงส่งผลให้ลากอมบ์และเลองถูกจับ เลองถูกปล่อยในเดือนสิงหาคมลากอมบ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลปฏิวัติและโรเบสปิแอร์ เธอถูกจองจำจนกระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1795

จากความหวาดกลัวในยุคแห่งความเหี้ยมโหดในชนบทเริ่มมีการต่อต้านการปฏิวัติมากขึ้นจนกลายเป็นหลักฐานสำคัญ โดยเฉพาะในวงเด (Vende′e) และเบรอตาญ (Bretagne)การต่อต้านการปฏิวัติเกิดขึ้นเพราะสตรีและบาทหลวง กลุ่มบาทหลวงซึ่งไม่ยอมสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญปฏิวัติ บอกชาวบ้านไม่ให้เสียภาษีเพื่อสร้างความยุ่งยากให้แก่รัฐ ในขณะที่สตรีมีการประกาศต่อต้านการปฏิวัติต่อหน้าคณะกรรมการตรวจตรา ค.ศ. 1793 ในวงเด

สตรีปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติ และต่อต้านการปฏิวัติโดยซ่อนผลผลิตทางการเกษตรหรือช่วยเหลือพวกที่เป็นศัตรูของการปฏิวัติ โดยเฉพาะนักบวช มีการตั้งกองทัพอามาโซนต่อต้านการปฏิวัติและกองทัพคาทอลิกและราชวงศ์ใน ค.ศ. 1793-1796 เมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ สตรีมักถูกใช้เป็นหมากในการก่อการ วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1793 กองกำลังติดอาวุธวงเดซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาภายใต้การนำของบาทหลวง ได้ปะทะกับฝ่ายทหารสาธารณรัฐอย่างนองเลือด ทหารรัฐได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านเป้าหมายพบแต่สตรีผู้บัญชาการทหารมีความคิดว่า สตรีเป็นอุปสรรคขัดขวางการตั้งสาธารณรัฐแต่ไม่ได้ฆ่าสตรีพวกนั้นแต่อย่างใด อย่างไร่ก็ตามการปราบปรามพวกต่อต้านปฏิวัติที่กลาซิแยร์ (Glacie′re) และอองเซ (Angers) หนึ่งในสามของผู้เสียชีวิตคือสตรี

สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มีการชุมนุมของสตรีระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม ค.ศ. 1795 การชุมนุมนำไปสู่การก่อความไม่สงบและการปะทะกันในหลาย ๆ รูปแบบในปารีสสตรีเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อสภาขอให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขกฏหมายโดยการใช้วิธีก้าวร้าวในการเสนอทัศนของตน ตะโกนว่าร้ายผู้แทน และรวมตัวกันที่ประตูสภาเพื่อกั้นประตูทางเข้า วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1795 ประธานสภามีคำสั่งให้ไล่สตรีเหล่านีี้ออกจากการประชุม วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1795 สภาได้ออกกฤษฎีกาห้ามการชุมนุมของสตรีมากเกินกว่า 5 คน โดยผู้ละเมิดกฎนี้จะได้รับโทษคือการจำคุก

เห็นได้ว่าสตรีถูกห้ามมีสิทธิทางการเมือง สิทธิในการจัดตั้งองค์กรและสิทธิในการชุมนุม ถือเป็นจุดที่ทำให้บทบาทของสตรีทางการเมืองในฝรั่งเศสหยุดชะงักและต้องใช้ความพยายามอีกหลายปีกว่าที่สตรีจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง

การปฏิวัติแสดงให้เห็นว่าบทบาทสตรีไม่ได้แค่มีหน้าที่ทำงานบ้านหรือเป็นเพียงแม่บ้านคอยเลี้ยงลูกดูแลสามี แต่สตรีสามารถทำได้มากกว่าการเป็นภรรยาและมารดาพวกเธอมีความคิดและสามารถเข้าไปจัดการปัญหาเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ความกล้านี้ทำให้สตรียกระดับบทบาทตนเองได้มากกว่าการถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ


คัดจาก : บทความ “บทบาทสตรีฝรั่งเศสในการปฏิวัติ ค.ศ. 1789”. โดย ณัฐพร ไทยจงรักษ์. หนังสือวารสารประวัติศาสตร์ 2557. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ