ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อหน้าร้อนเมืองไทยไม่เคยปรานีใคร เพราะบางพื้นที่อุณหภูมิสูงขึ้นไปกว่า 40 องศาเซลเซียส หลายคนจึงคิดหาวิธีดับร้อน หนึ่งในนั้นคือการใช้แป้งฝุ่นสูตรเย็น ซึ่งยี่ห้อที่คนส่วนมากเคยใช้หรือเคยได้ยินชื่อก็คือ “แป้งเย็นตรางู” ที่มี ล้วน ว่องวานิช หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หมอล้วน” เป็นผู้พัฒนาสูตร จนครองใจผู้ใช้มาถึงทุกวันนี้
แป้งเย็นตรางู ซึ่งใช้สัญลักษณ์งูมีศรปักหัว หมายถึง “งูเปรียบเหมือนโรคภัยไข้เจ็บ ลูกศรที่ปักหัวงูหมายถึงการรักษาโรค” มีความเป็นมาย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5
ตอนนั้น นพ. โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) หรือ “หมอเฮส์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรัก และอดีตแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาลศิริราช ร่วมทุนกับ นพ. ปีเตอร์ กาแวน (Peter Gawan) เปิดร้านขายยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 ใช้ชื่อร้านว่า British Dispensary มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักหัว
แต่ในยุคนั้น ชาวสยามยังไม่คุ้นกับการออกเสียงภาษาอังกฤษ จึงเรียกชื่อร้านตามสิ่งที่เห็น นั่นก็คือ “ห้างขายยาอังกฤษ ตรางู”
ที่ตั้งของร้านอยู่ปากตรอกโรงภาษีข้าม มุมถนนสุรวงศ์ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นย่านที่ชาวตะวันตกอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพราะเป็นที่ตั้งสถานทูตและบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ชั้นบนเปิดเป็นคลินิกรักษาผู้ป่วย ส่วนชั้นล่างเป็นที่ปรุงยาและขายยา ทั้งที่ทำเองและสั่งจากต่างประเทศ
กิจการดำเนินไปได้ดี ทั้งคู่เปิดสาขาอีก 2 แห่ง แต่ต่อมาหมอกาแวนจำเป็นต้องเดินทางกลับอังกฤษ จึงขายหุ้นให้หมอเฮส์ พอถึง พ.ศ. 2449 หมอเฮส์ก็ขายกิจการทั้งหมดให้ มิสเตอร์แมคเบธ (Mr. Mcbeth) ซึ่งเป็นผู้ปรุงยาในร้าน
ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ดำเนินการมาได้ 36 ปี มิสเตอร์แมคเบธก็ต้องการเดินทางกลับประเทศ จึงประสงค์จะขายกิจการ ทั้งทรัพย์สิน ตำรับยาต่างๆ และลิขสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซนลุกซ์ ในมูลค่า 100,000 บาท
ผู้ที่ซื้อกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ใน พ.ศ. 2471 ก็คือ ล้วน ว่องวานิช นั่นเอง
ล้วน ว่องวานิช เป็นชาวจีน เกิดที่เกาะไหหลำ เมื่อ พ.ศ. 2434 พออายุได้ 12 ปีก็เดินทางมาเมืองไทย ทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงงานน้ำอัดลม ใกล้กับสะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งหนึ่งในสาขาของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ก็ตั้งอยู่แถวนั้นด้วย
เมื่อจบชั้น ม.1 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขาเข้าทำงานที่ห้างขายยา ตราบัว มีหน้าที่ช่วยเภสัชกรผสมยา จากนั้นก็ย้ายมาทำงานที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) และห้างขายยาบางกอกดิสเปนซารี ตราช้าง
ความเป็นคนใฝ่รู้ ทำให้ล้วนศึกษาค้นคว้าเรื่องการผสมยาอย่างจริงจัง ทั้งยังได้รับความรู้จาก นพ. ชไนเดอร์ ชาวเยอรมัน ที่ถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ให้ จุดนี้เองที่ทำให้ใครต่อใครเรียกเขาว่า “หมอล้วน”
ล้วนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้างขายยามาแทบจะตลอดชีวิต เมื่อมิสเตอร์แมคเบธประกาศขายกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เขาจึงตัดสินใจซื้ออย่างไม่ลังเล
หนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ภายใต้การดูแลของหมอล้วน คือ แป้งน้ำ “ควินนา” (Quina) ที่เพิ่มสารให้ความเย็นและความหอมจากสูตรเดิม เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงสาว เพราะนอกจากช่วยคลายร้อนได้แล้ว กลิ่นกายยังหอมกรุ่นแตกต่างจากแป้งสูตรอื่น ซึ่งยังมีขายมาถึงตอนนี้
ส่วน “แป้งเย็นตรางู” สินค้าซิกเนเจอร์ที่อยู่ยั้งยืนยงมาหลายทศวรรษ ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2490 เมื่อทนายความชื่อบริสเบนมาหาหมอโอคเลย์” (Oakley) ซึ่งเป็นหมอประจำห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ด้วยอาการผดผื่นคัน มีสาเหตุจากอากาศเมืองไทยที่ร้อนอบอ้าว หมอให้โลชั่นคาลาไมน์ไปทา แต่ก็ไม่หายสักที
ในที่สุด หมอล้วนจึงผสมแป้งและเพิ่มสารความเย็นให้นายบริสเบนนำกลับไปใช้ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี เขาหายจากผดผื่นคัน ทั้งยังสบายตัว ชื่อเสียงของแป้งเย็นตรางูจึงกระจายไปปากต่อปาก กระทั่งหมอล้วนผลิตเป็นสินค้าวางจำหน่าย
นอกจากเป็นแป้งเย็นช่วยให้ผู้ใช้สบายตัว เอกลักษณ์อีกอย่างของแป้งเย็นตรางูคือ “กระป๋องเหล็ก”
เรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ที่หมอล้วนคิดค้นวิธีเก็บความเย็นให้นานกว่าเดิม จึงเลือกใช้กระป๋องเหล็ก ตอนนั้นต้องนำเข้ากระป๋องจากฮ่องกง แต่ต่อมาเกิดปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยสามารถผลิตกระป๋องเหล็กแบบนี้ได้แล้ว หมอล้วนจึงเปลี่ยนมาใช้กระป๋องที่ผลิตในไทย
เมื่อเมืองไทยเป็นเมืองร้อน แป้งเย็นตรางูที่ช่วยสร้างความสบายตัวได้ดี จึงเป็นสินค้าขวัญใจผู้ใช้จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- นอกจากแป้ง สตรียุคก่อนใช้อะไรทำให้สวย ผ่า อายไลเนอร์ ของราชินี ถึงสารตะกั่วแบบฝรั่ง
- “ชาด” เครื่องสำอางที่ทำให้สาวจีนโบราณแก้มแดงระเรื่อ สุขภาพดี มาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ผู้ผ่านทาง. “เปิดตำนาน ๑๐๐ ปี ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2536.
เว็บไซต์ Snake Brand. https://snakebrand.co.th/cool-around-the-world/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2567