กองกำลังอามาโซน “สมาคมสตรี” กับการ “ปฏิวัติ” ฝรั่งเศส (2)

"ปฏิวัติฝรั่งเศส" (ภาพจาก POLITICAL GRAPHICS ART AS A WEAPON)

หลังฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1792 มีการแสดงออกทางการเมืองของสตรีทั้งในลักษณะปัจเจคชนและในรูปแบบของสมาคมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของสตรีให้มากขึ้น จากบทบาทสำคัญของสตรีในการปฏิวัติ สตรีพยายามที่จะให้ตนเองขึ้นไปอยู่แนวหน้าของสังคม โดยการพยายามให้หลายๆ ชมรมหรือสมาคมต่างๆ รับสตรีเข้าเป็นสมาชิก

สมาคมเป็นที่ๆ สตรีมาชุมนุมกันมีการแลกเปลี่ยนความคิด เผยแพร่แนวคิดในช่วงภูมิธรรม ร่วมกันร่างระเบียบทางการเมืองและสังคมและวางแผนยุทธศาสตร์ในอนาคต ดังนั้นสมาคมสตรีจึงเป็นเหมือนสถานที่ๆ สะท้อนสติปัญญาทางการเมืองที่มีคุณค่าของสตรีที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ค.ศ. 1793 เป็นต้นมา สมาคมเก่าแก่และใหม่ได้ยอมรับให้สตรีเข้าเป็นสมาชิก ในปารีสสมาคมชายอิสระ (La Socie′te′ des Hommes libres) เปิดรับสตรีเป็นสมาชิกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1793 เช่นเดียวกันกับสมาคมผู้รักชาติแห่งลักเซมเบิร์ก (La Socie′te′ patriotique du Luxembourg) รับสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปเป็นสมาชิก คุณสมบัติในการเป็นสมาชิกเหมือนกับบุรุษทุกประการ แต่อย่างไรก็ตามจำนวนสมาคมสตรีที่มีความสำคัญและมีบทบาทการเมืองอย่างมากได้แก่ สมาคมพลเมืองสตรีสาธารณรัฐปฏิวัติ (La Socie′te′ des Citoyennes re′publicaines re′volutionnaires) ตั้งขึ้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1793 โดยแกลร์ลากอมบ์ (Claire Lacombe – ในบางกอกเอกสารชื่อว่า โรส ลากอมบ์) และโปลีน เลอง (Pauline Le′on) สมาคมนี้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษารัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ของสาธารณรัฐเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบสตรี

อย่างไรก็ตามกลุ่มสตรีได้มีการรวมตัวประชุมกันเพื่อหาหนทางในการตั้งกองกำลังสตรีและให้เป็นส่วนหนึ่งของกองทหารในรัฐลบาลสาธารณรัฐ ซึ่งพวกเธอมองว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องมีกองรักษาการณ์แห่งชาติสตรีโดยเฉพาะที่เรียกว่า อามาโซน (Le′gionsd’ amazones) โดยอามาโซนมีหน้าที่สนับสนุนในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียง ส่งเสริมขวัญกำลังใจของทหารและครอบครัว โดยเมริกูร์คาดหวังจะให้กองทัพอามาโซน เป็นกองกำลังรักษาการณ์ของสตรีที่ติดอาวุธประกอบด้วย หอก ปืน ดาบ โดยเธอพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นหน้าที่ของสตรีที่ต้องปกป้องมาตุภูมิ

ในขณะที่เลองมีส่วนช่วยในการโฆษณาชวนเชื่อและทำกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวกับการปฏิวัติตั้งแต่ในช่วงที่มีการบุกคุกบาสตีลย์และแสดงตัวต่อต้านลาฟาแยตกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยยื่นฎีกาพร้อมกับรายชื่อ 300 คนในนามของสมาชิกสมาคมภราดรภาพของทั้งสองเพศต่อสภานิติบัญญัติในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1792 เรียกร้องสิทธิสตรีในการครอบครองอาวุธและต่อสู้กับศัตรูของประเทศและการปฏิวัติ โดยการตั้งกองกำลังแห่งชาติที่เป็นสตรี

ซึ่งสมาคมภราดรภาพของทั้งสองเพศรับสมัครสมาชิกอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มารดาสามารถนำบุตรที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมริกูร์เรียกร้องให้สตรีในฟอบูร์กลุกขึ้นจับอาวุธเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1792 หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน สตรี 80 คน จากกลุ่มสตรีอิสระ (femmes libres) ยื่นฎีกาในแบบเดียวกับเมริกูร์ แต่ไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน ในมาร์กเซยและอาร์ล (Arles) ก็พยายามเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการครอบครองอาวุธ ในมาร์กเซยมีการตั้งกลุ่มทหารบ้านโดยภรรยาของทหารของกองกำลังรักษาการณ์แห่งชาติ ในขณะเดียวกันมีหน่วยอามาโซน 154 หน่วยทั่วฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 มีสตรีหลายคนที่เข้าร่วมกับกองทัพในฐานะปัจเจกชน มีทั้งสตรีที่ประจำการในหน่วยทหารปืนใหญ่ หน่วยเขวี้ยงระเบิด หนวยทหารราบ หนึ่งในนั้นคือพี่น้องตระกูลแฟร์นิก ได้แก่ เฟลิซิเตและเตโอฟิล (Fe′licite′ et The′ophile Fernig) มีสตรีอีกหลายคนที่แต่งกายเหมือนกับบุรุษเข้าร่วมรบกับสามีหรือเพื่อน ๆ ของเธอ เช่น โรส บูลิยง (Rose Boullion) ซึ่งปล่อยแม่ที่ไม่สบายและลูกสองคนไว้และเข้าร่วมกองทัพกับสามีด้วยความสมัครใจ

ลากอมบ์ยังคงพยายามยื่นคำร้องต่อสภานิติบัญญัติขอทำงานในกองทัพ สภาตัดสินใจให้มีการตีพิมพ์คำแถลงของลากอมบ์ แต่ในเรื่องของการทำงานในกองทัพยังไม่ได้รับการอนุมัติในทันที ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 ลากอมบ์และเมริกูร์เข้าร่วมในการบุกพระราชวังตุยเลอรี (Tuilerie) ในครั้งนี้มีสตรีหลายคนเข้าร่วมและได้มีการรับยศจากความดีความชอบที่ร่วมโจมตีด้วย หลังจากนั้นลากอมบ์ได้โฆษกในสมาคมภราดรภาพของทั้งสองเพศ (Les socie′te′s fraternelles des deux sexes)


คัดจาก : บทความ “บทบาทสตรีฝรั่งเศสในการปฏิวัติ ค.ศ. 1789”. โดย ณัฐพร ไทยจงรักษ์. หนังสือวารสารประวัติศาสตร์ 2557. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ