บทบาท “สตรี” กับการ “ปฏิวัติ” ฝรั่งเศส (1)

"ปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1792" (ภาพจาก POLITICAL GRAPHICS ART AS A WEAPON)

บทบาทของสตรีในฝรั่งเศสได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ในระบอบเก่าสตรีเคยมีบทบาทเพียงแค่การเป็นมารดาและเลี้ยงดูบุตร การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้เห็นบทบาทของสตรีทางการเมืองได้เป็นอย่างดี มีการเข้าร่วมทางการเมืองของสตรีในหลายๆ เหตุการณ์และรูปแบบ เช่น การตั้งชมรมสตรี การตั้งกองกำลังรักษาการณ์สตรี จากกระแสสตรีนิยม ทำให้สตรีพยายามเรียกร้องสิทธิของตนเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการศึกษา สิทธิความเท่าเทียมกันกับบุรุษ สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองทำให้สตรีถูกกีดกันในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

ในช่วงการปฏิวัติ สตรีมีบทบาทสำคัญในหลายๆ เหตุการณ์ โดยเฉพาะ เหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1789 และเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1792 และพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบ เช่น การเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอความคิดเห็น การตั้งสมาคมสตรี การตั้งกองกำลังรักษาการณ์แห่งชาติสตรี การเข้าร่วมในกองทัพปฏิวัติ การให้ความช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์และกำลังใจแก่ทหารและครอบครัวรวมถึงการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเฉลิมฉลองการปฏิวัติ แต่บทบาทเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก

สตรีเริ่มเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์บุกเข้ายึดคุกบาสตีลย์ (Bastille) ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 โดยสตรีทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณให้กับบุรุษในการบุกยึดคุก รวมทั้งคอยช่วยสนับสนุนในเรืื่องอุปกรณ์และเสบียง จากเอกสารของศาลซึ่งบรรยายรายละเอียดของการจับกุมสตรีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ได้มีการระบุว่า สตรีหลายคนเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกตัดสินให้ลงโทษกับความผิดที่ได้กระทำด้วย (Eliane Gubin 2014: 8)

หลังจากเหตุการณ์คุกบาสตีลย์ มีการประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและความเป็นพลเมือง ให้มีความเสมอภาค เสรีภาพและความยุติธรรม รวมทั้งรับรองสิทธิในทรัพย์สินของทุกคน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1789 สมาชิกสภาแห่งชาติเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการแบ่งสรรอำนาจระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าและขุนนางกับฝ่ายที่นิยมการปฏิวัติซึ่งหวังที่จะมีการปกครองในรูปแบบรัฐสภาตามแบบอังกฤษ วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปฏิเสธที่จะลงนามในการยกเลิกอภิสิทธิ์ต่างๆ ตามระบอบฟิวดัล

นอกจากเรื่องการเมืองซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่องของความเสมอภาคได้ยังมีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น เกิดการขาดแคลนอาหารในปารีสเพราะการเก็บไว้ขายเก็งกำไร ขนมปังเพิ่มราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าเงินลดต่ำลง คนว่างงานการอพยพย้ายถิ่นของตระกูลขุนนางไปยังดินแดนอื่นส่งผลให้ช่างและกรรมกรชั้นสูงไม่มีงานทำ ข่าวลือแพร่กระจายทั่วปารีส ว่าจะมีการก่อการยึดอำนาจจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต่อต้านสภาแห่งชาติและต่อต้านคอมมูนปารีส พร้อมๆ กับการเดินทางมาถึงปารีสของกองทัพฟลอนด์ (Flandre) ซึ่งเป็นกองทหารองครักษ์กษัตริย์ในปลายเดือนกันยายนทำให้เกิดความวิตกว่า ฝ่ายกษัตริย์จะยึดอำนาจคืน

จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก สตรีซึ่งมีหน้าที่ในการหาอาหารให้กับสามีและสมาชิกครอบครัวพวกเธอ มองเห็นว่าควรจะมีการเรียกร้องให้ราชสำนักสนใจปัญหานี้มากขึ้น อีกทั้งสตรีเหล่านี้มองเห็นการจัดเลี้ยงใหญ่โตของราชสำนักพร้อมด้วยอาหารอันอุดมสมบูรณ์ในขณะที่พวกเธออยู่ในสภาพอดอยาก ทำให้กลุ่มสตรีเหล่านี้ลงความเห็นกันว่า จะร่วมกันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในวันรุ่งขึ้นก็คือ วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ส่งผลให้ในเช้าวันนั้นมีสตรีหลายพันคนซึ่งประกอบไปด้วย พวกหาเช้ากินค่ำ แม่ค้า ช่างแกะสลัก ช่างปั้น แม่ค้าขายดอกไม้ดอกไม้และผู้หญิงข้างถนน รวมทั้งโสณีชั้นสูงจากย่านฟอร์บรูกส์ แซง ตองตวน (Faubourg Saint-Antoine) เลส์ ฮาลล์ (Les Halles) พร้อมด้วยกลุ่มชายจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันก่อนเคลื่อนขบวนจากหน้าศาลาว่าการกรุงปารีสเพื่อเดินทางไปยังพระราชวังแวซายส์

ภาพของสตรีที่ปรากฏนั้นบางคนเดินเท้าเปล่า บางคนขี่ม้า นั่งม้าเกวียน บางคนนั่งบนแท่นปืนใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่เพียงแค่นี้ที่ทำให้สถานการณ์ระอุขึ้น เมื่อพระเจ้าหลุยส์ยังคงปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและความเป็นพลเมืองและมีข่าวลือออกมาว่าพระเจ้าหลุยส์ต่อต้านการปฏิวัติ บวกกับความไม่พอใจคำพูดของพระนางมารี อังตัวเนตต์ที่ไม่เข้าใจและไม่สนใจถึงสถานการณ์ถึงความอดอยากของประชาชน สตรีจึงเปลี่ยนสถานะของตนเองเป็นกองกำลังรักษาการณ์แห่งชาติ (garde national) ทำหน้าที่คุมตัวกษัตริย์และพระราชวงศ์กลับปารีส จูลส์ มิเชอเลต์ (Jules Michelet) นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้มีความนิยมชมชอบสตรีมากนัก ได้บรรยายถึงความสำคัญของสตรีในการปฏิวัติไว้ว่า  〈〈ผู้ชายเข้ายึดคุกบาสตีลย์ผู้ญิงทำหน้าที่คุมตัวกษัตริย์และราชวงศ์จนกระทั่งถึงปารีส นั่นคือการปฏิวัติ〉〉 (Jules Michelet 1855 : 26)

ดังนั้นเห็นได้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวในการปฏิวัติของสตรีไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องขอขนมปังหรือให้มีอาหารเพืิ่อบริโภคเท่านั้น แต่ถือเป็นการเรียกร้องในสิทธิที่สตรีพึงมีในฐานะพลเมือง การที่สตรีสามัญชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอย่างมากมาย ตีความได้ว่า เป็นเพราะสตรีเหล่านี้อาศัยอยู่ตามท้องถนน ทำงานในตลาด ได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในสถานที่สาธารณะ ข้อมูลข่าวสารถูกถ่ายทอดจากสตรีแบบปากต่อปาก ทำให้การปลุกระดมเพื่อให้สตรีเข้าร่วมก่อการปฏิวัติได้โดยง่าย


คัดจาก : บทความ “บทบาทสตรีฝรั่งเศสในการปฏิวัติ ค.ศ. 1789”. โดย ณัฐพร ไทยจงรักษ์. หนังสือวารสารประวัติศาสตร์ 2557. ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ