ยุคเริ่มแรกมีแผนที่บนผืนแผ่นดิน

จักรวาลของชาวอียิปต์

เราไม่มีหลักฐานเหลือให้เห็น แต่น่าสันนิษฐานว่าแผนที่พื้นแผ่นดินยุคแรกคงเกิดมีขึ้นเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีก่อนในระยะที่มนุษย์เริ่มตั้งเป็น “รัฐ” เพื่อความสะดวกของราชการที่ต้องคุมหัวเมืองและเก็บส่วยเข้าเมืองหลวง รัฐใหญ่รุ่นแรกนี้เกิดตามลุ่มน้ำใหญ่ๆ เช่น จีนโบราณในลุ่มน้ำแยงซี อัสซีเรียในลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส (อิรักปัจจุบัน) และอียิปต์ในลุ่มน้ำไนล์

อียิปต์เป็นกรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะลักษณะภูมิประเทศอำนวยให้ศึกษาทั้งฟ้าและดินพร้อมกัน แม่น้ำไนล์ไหลจากใต้ไปสู่เหนือ มีเทือกเขาขนาบซ้ายขวา เห็นดวงตะวันขึ้นแล้วตกไขว้กับแม่น้ำไนล์ ชาวอียิปต์เข้าใจว่าทางโคจรของสุริยเทพเป็นแม่น้ำบนฟ้า (มิเช่นนั้นฝนมาจากไหน?) พอตกดินสุริยเทพตาย ถูกแต่งเป็นมัมมี่ลงเรือในแม่น้ำบาดาล แล้วกลับคืนชีพวันรุ่งขึ้นในทิศตะวันออก

Advertisement

อย่างนี้ชาวอียิปต์โบราณพยายามเข้าใจเรื่องพื้นแผ่นดินควบคู่กับจักรวาล (ท้องฟ้าและบาดาล) ประเด็นที่สำคัญคือ นอกจากชาวอียิปต์เป็นผู้นำทางภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ เลขคณิต กลศาสตร์ และตริโกโนเมตร ชาวอียิปต์โบราณยังเป็นครูบาอาจารย์ของชาวกรีกโรมันในสมัยต่อมา

แรกกำเนิดแผนที่ทะเลและนานาประเทศ

ทวีปเอเชียไม่อำนวยให้เกิดแผนที่ เพราะแหล่งอารยธรรมใหญ่ (เช่นจีนและอินเดีย) เป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่มาก และหันหน้าออกไปสู่มหาสมุทรที่ไม่มีขอบเขต ในทางตรงกันข้าม ทวีปยุโรปตอนใต้ประกอบด้วยแหลมเล็กแหลมน้อยที่ยื่นลงไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีขนาดย่อม และมีขอบเขตจำกัด มีชาวฟีนีเซียน (ราว ๔,๐๐๐ ปี) ชาวกรีก (ราว ๓,๐๐๐ ปี) และชาวโรมัน (ราว ๒,๐๐๐​ปี) ตระเวนทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปและในรายละเอียด

จักรวาลของชาวโรมัน

เราไม่มีแผนที่เหลือจากยุคกรีก-โรมัน แต่ทราบจากวรรณคดีว่าเขาได้สืบทอดจักรวาลวิทยาหรือความเข้าใจเกี่ยวกับโลกสัณฐานจากชาวอียิปต์จึงเชื่อว่า “โลก” ต้องมีน้ำล้อมรอบ ภาพจักรวาลของกรีก-โรมันจึงมีรูปร่างดังนีี้

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่ว่าชาวกรีก-โรมันรู้เห็นดีมากเกี่ยวกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งแปลว่า “ทะเลกลางแผ่นดิน”) ทั้งแหลม, เกาะ และ ชายฝั่งโดยรอบ, โดยเชื่อว่ามี “ทะเลนอกแผ่นดิน” (Oceanus) ล้อมโดยรอบเขาจึงเห็นโลกของเขาค่อนข้างคมชัดและถูกต้องแม่นยดังนี้

แผนที่โลกตามความรู้เห็นของชาวกรีก-โรมัน

ภาพโลกที่ชาวกรีก-โรมันรู้จักนี้ ถือว่า “ดีใช้ได้” สำหรับยุคนั้น แต่มันถูกท้าทายด้วยข้อมูลใหม่ๆ ตั้งแต่ต้นในพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยาตราทัพออกจากกรีซสู่ตะวันออกผ่านเปอร์เซีย บักเตรียลอดถึงลุ่มน้ำสินธุ โดยไม่พบ “ทะเลนอกแผ่นดิน” ต่อมาชาวกรีกได้ส่งทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าอโศกที่กรุงปาฏลีบุตรในลุ่มน้ำคงคาทางทิศตะวันออกไกล ก็ไม่ได้ข่าวคราว “ทะเลล้อมแผ่นดิน”

ขณะอยู่เมืองปาฏลีบุตรริมฝั่งคงคา ทูตกรีกได้ฟังข่าวว่าเลยปากน้ำคงคายังมีแผ่นดินใหญ่อีกผืนหนึ่ง นี่คือกำเนิดคำว่า India Intra Gangem หรือ “อินเดียภายในลุ่มน้ำคงคา” และ  India Extra Gangem หรือ “อินเดียเลยลุ่มน้ำคงคา” (คืออุษาคเนย์) สองคำนี้จะสืบทอดกันมา โผล่ขึ้นมาในแผนที่โปรตุเกสรุ่นแรก (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗) และยังคัดลอกกันอีกในแผนที่ยุคต่อมา ยกเลิกราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘

ในยุคกรีก-โรมัน พ่อค้าเรือที่กลับเข้ามาจากตะวันออกต่างเล่ากันว่าหากชักใบเรือแล่นเรือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็จะถึงเกาะงามชื่อ Taprobana (ตัมพปัณณี = ลังกา) ที่อุมดมด้วยเครื่องเทศและอัญมณี หากชักใบต่อไปอีกระยะหนึ่งก็จะรอดถึงแผ่นดินใหญ่ที่อุดมด้วยทองคำ นั่นคือ “สุวรรณภูมิ” ของวรรณคดีอินเดีย ที่ทุกวันนี้เรียกว่า “อุษาคเนย์”

(ซ้าย) แผนที่โลกรอบเมือง Babylon บนแผ่นอิฐ, ๖๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล (ภาพจาก A History of Cartography. Thames and Hudson, ๑๙๖๙.)
(ขวา) คำแปลและตีความ

ดังว่ามาแล้วเราไม่มีแผนที่ยุคนั้นเหลือให้ดู แต่นักภูมิศาสตร์กรีก-โรมันได้บันทึกความไว้โดยละเอียดในตำรา รวมทั้งทิศทางเดินเรือและชื่อเมืองท่าต่างๆตามชายฝั่ง ซึ่งนักภูมิศาสตร์และนักเขียนแผนที่ชาวอาหรับจะสืบทอกในยุคปัจจุบัน


คัดจาก : หนังสือ “แผนที่แผนทางในประวัติศาสตร์โลกแห่งสยาม”. โดย ไมเคิล ไรท. มติชน. ๒๕๔๘