ผู้เขียน | นนทพร อยู่มั่งมี |
---|---|
เผยแพร่ |
ธรรมเนียมการสร้างสุสานหลวงสำหรับบรรจุพระสรีรางคาร (พระอังคาร) อย่างเป็นกิจจะลักษณะหรือระบุว่าพื้นที่ใดเป็นสุสานหลวงไม่ปรากฏมาก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หากจะมีก็เพียงแต่การสร้างสิ่งของหรือถาวรวัตถุเพื่อเป็นการถวายพระกุศลแก่เจ้านายพระองค์ที่ล่วงลับไป รวมทั้งอาจมีธรรมเนียมปฏิบัติในการบรรจุพระอัฐิธาตุไว้กับสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นพิเศษจนประหนึ่งเป็นสุสานหลวงไป ส่วนสุสานหลวง อันเป็นสถานที่เฉพาะนั้นถูกสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นวิถีปฏิบัติสืบเนื่องมาที่จะนำพระสรีรางคารของเจ้านายชั้นสูงตามแต่สายราชสกุลมาบรรจุไว้ยังสถานที่พำนักแห่งสุดท้ายนี้
สุสานหลวง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังทรงสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ. 2412 อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ภายในมีต้นไม้และอนุสาวรีย์ต่างๆ สร้างไว้อย่างเป็นระเบียบ สวยงาม ซึ่งยังคงสืบเนื่องคติพุทธศาสนาในการใช้บรรจุพระสรีรางคาร และเพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรส พระราชธิดา อนุสาวรีย์บางส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นภายหลัง อันมีรูปร่างแตกต่างกัน อาทิ รูปเจดีย์ ปรางค์ อาคารแบบศิลปะยุโรป และอื่นๆ อนุสาวรีย์ที่สำคัญ เช่น
สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้งพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคาร พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
สุขุมาลย์นฤมิตร บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ และพระประยูรญาติ
การสร้างอนุสาวรีย์ในรัชกาลที่ 5 เพื่อบรรจุพระสรีรางคารในสุสานหลวง ทำให้เกิดลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนากับการใช้เป็นเครื่องระลึกถึงเจ้านายที่ทรงสนิทเสน่หา เป็นการบันทึกความทรงจำต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นพิเศษหรือต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างที่เรียกว่า อนุสาวรีย์ ตามคติตะวันตกที่เริ่มนิยมในขณะนั้น ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
คัดบางส่วนจากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” โดย นนทพร อยู่มั่งมี สำนักพิมพ์มติชน, 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560