๙ สิ่งประกอบพระบรมราชอิสริยยศเฉพาะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ย่อมมีสิ่งประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่แตกต่างไปจากงานพระบรมศพของสมเด็จพระบรมราชวงศ์ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี เพจ #ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้ประมวลสิ่งประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่ปรากฏเฉพาะแต่งานถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ โดยค้นคว้าจากหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายโบราณ จำแนกได้ทั้งหมด ๙ สิ่ง เรียงตามลำดับเวลาที่ปรากฏในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพดังต่อไปนี้

๑. พระลองเงิน
พระลองในที่นี้คือโกศชั้นในทำจากโลหะ สำหรับพระลองเงินที่กล่าวถึงนี้ทำจากเงิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพร้อมกับพระโกศทองใหญ่ เมื่อสวรรคตจึงได้ทรงพระบรมศพของพระองค์ จนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมาว่าสงวนไว้แต่เฉพาะพระบรมศพพระมหากษัตริย์เท่านั้น อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระลองเงินทรงพระบรมศพ พระลองเงินใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นหนล่าสุด ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าเมื่อเจ้าพนักงานเชิญขึ้นประดิษฐานบนเกยเทียบพระยานมาศสามลำคาน

๒. พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรคันดาล
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว ๙ ชั้น เป็นทั้งเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูงประกอบพระบรมราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ ส่วนคันดาลหมายถึงคันของฉัตรปักที่หักเป็นมุมฉาก ๒ ครั้ง เพื่อให้สิ่งที่อยู่ภายใต้ตรงกับศูนย์กลางของฉัตรซึ่งในที่นี้คือพระโกศพระบรมศพ ในการเชิญพระโกศพระบรมศพออกพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานจะได้เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรคันดาลถวายกางกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพเมื่อประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคานสำรับหนึ่ง อีกสำรับถวายกางกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพที่ท้ายเกรินบันไดนาค เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานหรือเชิญลงจากบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ และอีกสำรับถวายกางกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพที่ท้ายเกรินบันไดนาคเมื่อเชิญประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

๓. มโหระทึก
นอกจากแตรงอน แตรฝรั่ง สังข์ ปี่ กลองชนะแดงลายทอง กลองชนะเงิน และกลองชนะทอง เป็นริ้วขบวน ๔ สายประโคมแห่เชิญพระโกศพระบรมศพแล้ว ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ ยังมีมโหระทึกอีก ๔ ใบสอดบนคานหามเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศด้วย แสดงถึงการสืบทอดอย่างยาวนานนับพันปีของวัฒนธรรมการใช้มโหระทึกในงานพิธีของอุษาคเนย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการให้เกียรติกับวัฒนธรรมของผู้มาก่อน ดังเห็นได้จากการให้มโหระทึกนำหน้าขบวนเครื่องประโคมทั้งหมด

ที่มาของภาพ: ภาพที่ ๒, ๔, ๕, ๖-๗, ๘, ๙ FB: Pirasri Povatong

๔. ม้าพระที่นั่ง
ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ผังริ้วขบวนเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรียกว่า “ม้าจูงตามเสด็จ” จำนวน ๒ ม้า พร้อมเครื่องผูก แต่ไม่ปรากฏในผังริ้วขบวนขบวนเชิญพระโกศพระศพกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข นัยว่าคงเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ ม้าพระที่นั่งปรากฏในภาพถ่ายเก่างานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จำนวนทั้งหมด ๔ ม้า ผูกเครื่องและอานครบครัน ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษางานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ม้าพระที่นั่งผูกเครื่องพร้อมตามเสด็จ ๔ ม้า มีคนจูง ๑๖ คน” เดินตามพระโกศพระบรมศพถัดจากนาลิวัน

๕. ราชรถปืนใหญ่
การเชิญพระบรมศพด้วยราชรถปืนใหญ่ เป็นธรรมเนียมที่ปรากฏในงานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ในยุโรป นำมาใช้ในการเชิญพระศพเจ้านายที่ทรงรับราชการทหารเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก่อนสวรรคตได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ในพระราชพินัยกรรมว่า “ในการแห่พระบรมศพ…จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดรถเสียใหม่เป็นรถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร” อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติได้จัดราชรถปืนใหญ่เชิญพระโกศพระบรมศพเวียนอุตราวัฏ ๓ รอบพระเมรุมาศถวายตามพระราชประสงค์เท่านั้น แต่ก็กลายเป็นแบบแผนในการเชิญพระโกศบรมศพพระมหากษัตริย์สืบมา ดังเห็นได้จากราชรถปืนใหญ่เชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เวียนอุตราวัฏ ๓ รอบพระเมรุมาศ

๖. พระจิตกาธานยอดนพปฎลพรหมพักตร์
ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์ย่อมทรงพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรตามพระบรมราชอิสริยยศ พระจิตกาธานอันเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพในพระเมรุมาศ จึงมีเรือนยอดเป็นนพปฎลสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ๙ ชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้สดสีขาวสอดคล้องกับจำนวนชั้นและสีของพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ยอดนพปฎลจำหลักรูปพรหมพักตร์ เช่นเดียวกับยอดพระกลดพระพรหมพักตร์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจิตกาธานรูปแบบนี้ปรากฏหลักฐานสืบย้อนไปได้ถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปรากฏชัดเจนในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบถวาย

๗. ฉัตรดอกไม้ ๗ ชั้น ๔ มุมพระจิตกาธาน
ฉัตรดอกไม้ที่ฐานเขียงทั้ง ๔ มุมพระจิตกาธาน ร้อยกรองจากดอกไม้สดเช่นเดียวกับพระจิตกาธาน ทำหน้าที่เช่นเดียวกับฉัตรเครื่องสูงประกอบพระบรมราชอิสริยยศ มีจำนวน ๗ ชั้นลดหลั่นจากยอดนพปฎลของพระจิตกาธานที่มี ๙ ชั้น

๘. พระโกศพระบรมอัฐิประดับรัตนชาติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชนิยมเรื่องพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ ดังกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีพระราชโอรสเปนพระเจ้าแผ่นดินสืบสันตติวงศ์สนองพระองค์ ให้ใช้พระโกษฐ์เปนกุดั่นประดับพลอย แต่ถ้าเปนพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะพระองค์ให้ใช้เปนลงยาราชาวดี” พระราชนิยมดังกล่าวปรากฏในการสร้างพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งองค์พระโกศทำจากทองคำลงยาประดับพลอยแบบที่เรียกว่ากุดั่น ด้วยทรงมีพระราชโอรสสืบพระบรมราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์

๙. พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
การเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรังคารพระมหากษัตริย์จากพระเมรุมาศไปยังพระบรมมหาราชวัง จะเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งมีลักษณะเป็นบุษบกคานหาม สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเชิญผอบพระบรมราชสรีรังคารขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เป็นบุษบกคานหามเช่นกันแต่มีขนาดย่อมกว่า ต่างจากพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระบรมราชวงศ์ เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเชิญพระโกศพระบรมอัฐิด้วยพระที่นั่งราเชนทรยาน แต่เชิญผอบพระราชสรีรังคารด้วยพระวอสีวิกากาญจน์ เป็นต้น


© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom
ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา เชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด