ที่มา | นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๖๐ |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.นนทพร อยู่มั่งมี |
เผยแพร่ |
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีการรื้อฟื้นงานมหรสพในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเริ่มเมื่อคราวงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อไม่ให้ปริมณฑลพิธีต้องเงียบเหงา ซึ่งมีมหรสพ ๔ ชนิด คือ หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่นกระบอก
การจัดให้มีมหรสพสมโภชในงานพระบรมศพ นับได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และต่อมาได้เป็นธรรมเนียมที่กระทำอย่างต่อเนื่องในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่ในครั้งนั้นมีการมหรสพเพิ่มเติมจากการละเล่นแบบโบราณราชประเพณี ได้แก่ หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก และการแสดงละครนอก โดยมีการแสดงของวงดุริยางค์สากลและวงซิมโฟนีออเคสตราร่วมด้วย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถกับทั้งยังทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมการศึกษาทางด้านดุริยางค์สากลมาตลอดพระชนมชีพ
ส่วนงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการจัดมหรสพสมโภชตามธรรมเนียม ได้แก่ การแสดงหนังใหญ่ และโขนหน้าจอ เรื่องรามเกียรติ์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี และการแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง กับทั้งยังมีการแสดงและขับร้องดนตรีสากล และรวมไปถึงการแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่องศกุนตลา ซึ่งการแสดงละครดังกล่าวสอดคล้องกับพระประวัติของพระองค์ เนื่องจากเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๖
สำหรับการมหรสพเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ มีการแสดงอย่างต่อเนื่องในวันถวายพระเพลิงตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา จนถึง ๐๖.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ประกอบด้วยการแสดงที่เป็นนาฏศิลป์ตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ บริเวณหน้าพระที่นั่งทรงธรรม และยังมีการแสดงบริเวณเวทีกลางแจ้งด้านทิศเหนืออีก ๓ เวที ประกอบด้วย หนังใหญ่เบิกหน้าพระ โขนหน้าจอและโขนชักรอก หุ่นหลวง หุ่นกระบอก และละครใน เรื่องอิเหนา รวมทั้งการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย พร้อมทั้งการแสดงประกอบบทเพลงอีก ๗ องก์
ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในการแสดงมหรสพในคราวนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงบัลเล่ต์หน้าพระเมรุมาศ คือ มโนราห์บัลเลต์ ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ โดยพระองค์ได้พระราชทานเค้าโครงเรื่องและทรงพระราชนิพนธ์ดนตรีประกอบการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแนะนำศิลปะการแสดงของไทยไปสู่สากลโลกโดยผสมผสานการแสดงมโนราห์ทางภาคใต้กับการแสดงบัลเล่ต์ในแบบสากล ซึ่งมหรสพสมโภชหน้าพระเมรุมาศครั้งนี้ใช้นักแสดงบัลเล่ต์ที่มีฝีมือจากสถาบันต่างๆ ถึง ๗๐ คน
มหรสพสมโภชในการถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพเจ้านายมีหน้าที่ในการบำรุงขวัญราษฎรในยามที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งสำคัญ และในครั้งนี้ก็เช่นกันที่บรรดามหรสพนานาชนิดจะได้ทำหน้าที่เช่นที่เป็นมาแต่กาลก่อนผ่านบรรดานักแสดงมากถึง ๓,๐๘๔ คน๔๗ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อถวายพระเกียรติยศครั้งสุดท้ายแด่ “องค์อัครศิลปิน” คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปรีชาสามารถด้านศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของเหล่าพสกนิกรทั้งแผ่นดิน
คัดบางส่วนจาก : บทความเรื่อง “มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์”. โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๖๐