“เมื่องานพระบรมศพ ปราศจากเสียงอึกทึกไร้แสงสีจากดอกไม้เพลิง” การเปลี่ยนธรรมเนียมงานพระบรมศพสมัยรัชกาลที่ ๖

กระบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ออกจากบริเวณพระเมรุมาศทางทิศตะวันออก (ภาพจาก FB: Pirasri Povatong)

การมีมหรสพควบคู่กับงานออกพระเมรุมาศและพระเมรุเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มหรสพนานาชนิดล้วนเป็นเครื่องผ่อนคลายความทุกข์โศกแก่เหล่าราษฎรในยามที่เจ้านายเสด็จล่วงลับ ดังที่ปรากฏในโคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง ดังนี้

พลเมืองทั้งหนุ่มเถ้า       ปานกลาง
แต่งสกนธ์กายางค์         ย่างเยื้อง
มาเมิลมะหุสพางค์         สมโภช ไซ้นา
รมเยศเจตนาเปลื้อง       ปลิดเศร้าใจเกษม

บรรยากาศงานออกพระเมรุมาศจึงไม่ใช่งานที่แสดงความโศกเศร้า แต่กลับเป็นเสมือนงานรื่นเริงที่ราษฎรได้มีโอกาสมาเที่ยวชมมหรสพ เกี้ยวพาราสี หรือแม้แต่มาเล่นการพนัน ดังที่เอกสารฉบับเดียวกันกล่าวไว้ว่า

นักเลงเทียรเที่ยวเหล้น     ตาแสวง
พบบ่อนเบียดตบอยแทง   ถั่วเบี้ย
เจ้ามือคุยขจายแจง         ผจงรวบ
ระวังกั๊กยักฤๅเคี้ย           บุโหละล้อทอเถียง

ฝูงชนกล่นกลุ้มทอด        ทฤษฎา
เปนพวกพันธุคณา          พี่น้อง
โยงยุดฉุดชักพา             กันเที่ยว
สาวหนุ่มชุ่มชื่นพ้อง        ม่ายชม้ายเมียงกัน

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับธรรมเนียมการมหรสพในงานพระบรมศพเริ่มเมื่อมีการจัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ยกเลิกการมหรสพทั้งมวลรวมทั้งการจุดดอกไม้เพลิง การทิ้งทาน และตั้งโรงทาน ด้วยมีพระราชประสงค์ให้จัดงานพระบรมศพเป็นอย่างงานเศร้าโศกเช่นเดียวกับงานศพในแบบสากล ดังนี้

“เพราะเวลานี้เป็นเวลาเปลี่ยนยุค โลกทั้งหลายย่อมจะแลดูอยู่ว่า เราจะเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลังในเรื่องการศพนี้ เรายังเดินตามแบบเก่าอยู่มากกว่าอย่างอื่น เป็นต้นว่า การทำศพของเราเป็นการฉลอง การที่เขาทำกันบัดนี้เป็นการเศร้าโศก เป็นการตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำตั้งสิบห้าวันแล้วก็ไม่เข้ากัน เพราะถ้ายิ่งนานวันออกไปก็ยิ่งจะเคร่งครัดในการเศร้าโศกไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้ทำให้งานพระบรมศพหรืองานพระศพที่จัดขึ้นหลังจากนั้นจึงปราศจากเสียงอึกทึกของงานมหรสพ ไร้แสงสีจากดอกไม้เพลิง และขาดความสับสนอลหม่านจากราษฎรที่เข้าแย่งชิงของทิ้งทาน ธรรมเนียมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปเริ่มกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ โดยเฉพาะการมีมหรสพสมโภชในงานพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง


คัดบางส่วนจาก : บทความเรื่อง “มหรสพในงานพระเมรุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์”. โดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๖๐