เผยแพร่ |
---|
งานเครื่องสดประดับพระจิตกาธานแสดงออกซึ่งความวิจิตรประณีตสวยงาม อันเป็นคุณค่าเชิงศิลปะซึ่งช่างได้ประจงสร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือและความคิด เพื่อสื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ อันเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละงาน พระจิตกาธานจึงมีรูปทรงและการตกแต่งล้วนแต่วิจิตรอลังการหลากหลายรูปแบบไม่ซ้ำกัน
ในทางวัฒนธรรมช่างฝีมือได้คิดค้นและนำเอาวัสดุที่มีในท้องถิ่นจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวตามธรรมชาติมาใช้ตอบสนองวัฒนธรรมการปลงศพอย่างสมประโยชน์ โดยแต่โบราณจะใช้ต้นกล้วย กาบกล้วย ต้นพลับพลึงมาทำเป็นฐานรองรับฟืน เพราะมีน้ำและความชื้นเป็นฉนวนกันไฟลุกไหม้เชิงตะกอนได้เป็นอย่างดี กว่าจะเผาศพจนมอดไหม้เหลือแต่เถ้าถ่านก็ใช้เวลานาน มีการเลือกสรรวัสดุที่มีคุณภาพดีมาใช้ ดังใช้หยวกกล้วยตานีสำหรับแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน เนื่องจากกล้วยชนิดนี้มียางน้อย กาบด้านในมีสีขาว มีร่องน้ำละเอียดเก็บน้ำในลำต้นได้ดี มีอายุการใช้งานได้นานหลายวันกว่ากล้วยสายพันธุ์อื่นๆ
การเลือกใช้จะเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่ลำต้นอวบตรง ยังไม่ออกเครือ ซึ่งถือว่าเป็นต้นที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ยังนิยมประดับเครื่องอ่อนแกะสลักโดยเลือกผักผลไม้ที่มีเนื้อเหนียวเหมาะแก่การแกะ มีสีสันสวยงาม และเก็บความสดไว้ได้นานเป็นวัสดุ เป็นต้น
พระจิตกาธานจึงเป็นแหล่งรวบรวมฝีมืองานช่างหลายประเภท ซึ่งต้องใช้ช่างประดิษฐ์เป็นจำนวนมากให้แล้วเสร็จในเวลาสั้นที่สุด เพื่อรักษาความสดของเครื่องสดต่างๆ ไว้ให้ทันในการพระราชทานเพลิง คุณค่าของการประดับเครื่องสดประการหนึ่ง จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงความน้อมใจกันของเหล่าช่างฝีมือ บรรดาข้าราชบริพาร และอาณาประชาราษฎร์ ในการร่วมกันถวายความจงรักภักดี เป็นการไว้อาลัยและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายผู้มีคุณเป็นครั้งสุดท้าย อันเป็นคุณธรรมสำคัญที่แฝงอยู่ในงานประดับพระจิตกาธาน
คัดข้อความจาก : หนังสือ “เครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี”. สำนักพิมพ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. ๒๕๕๕