ที่มา | หนังสือ "สู่ฟ้าเสวยสวรรค์" สำนักพิมพ์มติชน |
---|---|
ผู้เขียน | ธัชชัย ยอดพิชัย (หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ "สู่ฟ้าเสวยสวรรค์") |
เผยแพร่ |
แนวคิดและความหมายในการวางผังพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙
แนวคิดในการจัดวางผังพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเชื่อมโยง สัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยตำแหน่งที่ตั้งพระเมรุมาศบุษบกประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นจุดตัดของแนวแกนที่สำคัญ ๒ แนวแกนที่ตัดกัน ได้แก่
– แนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับ พระศรีรัตนเจดีย์ (เจดีย์สีทอง) ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์
– แนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับ พระอุโบสถและพระวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อลากจากเขตพุทธาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการวางผังพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙ กล่าวถึงงานภูมิสถาปัตยกรรมที่เข้ามามีส่วนสำคัญและบทบาทค่อนข้างมากในงานพระเมรุมาศครั้งนี้ว่า
“เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ปรัชญาการวางผังตามคติความเชื่อแบบไทยประเพณี ถ้าอะไรสำคัญมักจะมีแนวแกน เราอยากให้พระเมรุมาศสัมพันธ์กับสิ่งที่สำคัญที่มีอยู่ ซึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเราเลือก ‘พระศรีรัตนเจดีย์’ เป็นเจดีย์สีทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ ‘พระวิหาร’ ในวัดมหาธาตุ ซึ่งนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ ยังขนาบข้างระหว่างวังหลวงกับวังหน้า และเป็นสถานที่สำคัญที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเหมือนพระโพธิสัตว์ลงมาช่วยเหลือมนุษย์ พระเมรุมาศของพระองค์ท่านจึงสัมพันธ์กับวัด วัง เป็นการสื่อถึงพระโพธิสัตว์ในทางศาสนา”
ซึ่งหากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้านอกรั้วราชวัติทางทิศเหนือ (หันหน้าเข้าหาวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ซ้อนอยู่ในพระเมรุมาศบุษบกประธาน เป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่เป็นความหมายพิเศษ นับเป็นความตั้งใจของภูมิสถาปนิกกรมศิลปากร ที่จัดวางผังเพื่อให้พระเมรุมาศ มีความหมาย ความงดงาม และยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙