แก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้า ให้สรวมเสื้อ

"ข้าราชการสยามผู้ใหญ่ผู้น้อยล้วนไม่สวมเสื้อผ้า" จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

แก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้า ให้สรวมเสื้อ

“เวลาวันหนึ่งข้าราชการเฃ้าเฝ้าที่พลับพลาโรงแสงพร้อมกันครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสรวมเสื้อเฃ้าเฝ้า จึงดำรัสว่าดูคนที่ไมได้สรวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นเกลื้อนกลากก็ดีฤา เหื่อออกมาก็ดีโสโครกนัก ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศใหญ่เขาก็สรวมเสื้อหมดทุกภาษาเว้นเสียแต่ว่าลาวชาวป่าที่ไม่ได้บริโภคผ้าผ่อนเป็นมนุษย์อย่างต่ำ

ก็ประเทศสยามนี้ ก็เป็นประเทศใหญ่รู้ขนบธรรมเนียมมากอยู่แล้ว ไม่ควรจะถือเอาอย่างโบราณที่เป็นชาวป่ามาก่อน ฃอท่านทั้งหลายจงพร้อมใจกันสวมเสื้อเข้ามาในที่เฝ้าจงทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเจ้าแลขุนนางก็สรวมเสื้ออย่างน้อยเฃ้าเฝ้าทุกคน

ครั้นนานมาเห็นว่าเสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้ จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบาบุตรจีนที่เมืองปัตเวีย ก็เป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้

ไพร่ฟ้าฃ้าแผ่นดินในกรุงเทพมหานครแล หัวเมืองก็ปรกติราบคาบบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นศุข เสนาบดีผู้ใหญ่ที่ได้ถวายความสัตยแล้วออกมาที่วัดพระศรีรัตนสาศดารามกำกับให้ฃ้าราชการผู้น้อยๆ ทุกหมู่ทุกกรม ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาสิบห้าวันจึงเสรจการถือน้ำ”


คัดข้อความจาก : หนังสือ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค)”. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ. ๒๕๔๗