ที่มา | คอลัมน์ จดหมาย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กันยายน 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | ธันยพงศ์ สารรัตน์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ |
เผยแพร่ |
กราบเรียน บรรณาธิการที่นับถือ
เป็นที่ทราบกันดีแล้วสำหรับนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจวิชาประวัติศาสตร์ว่า การแสวงหาหลักฐานเพื่อจำลองภาพในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีระบบระเบียบ แบบแผน และวิธีการที่ซับซ้อน ภาพในอดีตจะมีความถูกต้องและแม่นยำมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่หลักฐานที่ผู้ศึกษาค้นคว้าจะแสวงหามาได้ และตีความได้ตรงกับความจริงมากที่สุดเท่านั้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งหลักฐานประเภทนี้เป็นภาพเขียนที่เกี่ยวเนื่องด้วยสถาบันกษัตริย์ พระพุทธศาสนา และวัฒนธรรม เป็นหลักฐานทางกายภาพที่สื่อความหมายอย่างเจตนาที่สุด ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกที่พิเศษกว่าการใช้หลักฐานลายลักษณ์อักษร คือ สามารถให้ความงดงามที่เป็นสุนทรียภาพ ให้ความเพลิดเพลิน ทำให้เกิดมโนภาพที่กว้างไกล และสะท้อนสังคม สิ่งแวดล้อม ขนบประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนไทย ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาตินี้ มีกลุ่มภาพสำคัญทั้งหมด ๑๐ ภาพ ในประเด็นสำคัญของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่ยุคก่อตั้งบ้านเมืองและเข้าสู่ยุคใหม่ ผลงานสร้างสรรค์ของ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยรังสิต ถือได้ว่าเป็นภาพต่อเนื่องเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา คนที่เป็นแฟนคลับ “นิตยสารศิลปวัฒนธรรม” รวมถึง “ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ” จะเริ่มพบว่าทางกองบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ได้เริ่มพยายามนำสำเนาภาพจิตรกรรมเหล่านี้มาลงตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาพเปิดบทความและภาพประกอบเนื้อหา นั่นคือภาพสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ บ้านเมืองถึงคราววิบัติล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด (ซึ่งเป็นกลุ่มภาพที่ ๕ ในพื้นที่จัดแสดง) เช่น บทความเรื่อง “พม่า Shutdown กรุงศรี ใครหนี ใครสู้?” ของ คุณปรามินทร์ เครือทอง บทความเรื่อง “ ‘อยุธยาพิโรธใต้ เพลิงกัลป์’ : บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒” ของ ศ. ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร (ราชบัณฑิต) รวมถึงในหนังสือ “SHUTDOWN กรุงศรี” ของ คุณปรามินทร์ เครือทอง ด้วย
ซึ่งภาพเหล่านี้ค่อนข้างดูจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่กว่าภาพบางภาพ เช่น ภาพจากหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพจากหนังสือกระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี ภาพลายเส้นฝีมือชาวตะวันตกที่แสดงความรกร้างของวัดวาอารามในพระนครศรีอยุธยา หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก และภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๔ ภายในหอราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น ซึ่งเราค่อนข้างเห็นกันบ่อยแล้วตามหน้าหนังสือต่างๆ
ต้องขอชื่นชมทางนิตยสารศิลปวัฒนธรรมที่พยายามนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้มาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้เพราะน้อยคนนักที่จะรู้จัก บางคนแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนุสรณ์สถานแห่งชาติอยู่ที่ไหน ซึ่งคนที่นั่งรถทัวร์ปรับอากาศจากต่างจังหวัดมาจากภาคเหนือและภาคอีสานจะเข้ากรุงเทพมหานครทางถนนวิภาวดีรังสิตก็จะต้องนั่งรถผ่านอนุสรณ์สถานแห่งชาติด้วยกันทุกคน (ยกเว้นจะลงก่อน)
แต่เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ก็หาคนที่สนใจเรื่องราวในอดีตจริงๆ ก็คงจะยากเต็มที เพราะมัวแต่มุ่งความสนใจไปแต่เรื่องเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่างๆ มากกว่า แม้กระทั่งบางภาพในอาคารภาพปริทัศน์แห่งนี้เคยถูกนำมาใช้ในกิจกรรมตอบคำถามทางประวัติศาสตร์ไทย แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นภาพอะไร เนื่องจากไม่คุ้นชินและไม่เคยเห็น
ภาพที่นำมาใช้นี้เป็นภาพที่เขียนขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังจากเหตุการณ์นานมาก จะบอกว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นร่วมสมัยก็คงไม่ได้ แต่ขอจัดอยู่ในหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ประเภทหลักฐานทางศิลปกรรมแทน มีองค์ประกอบของงาน กล่าวคือ สิ่งที่ศิลปินใช้ในการผลิต เช่น สี ที่มีความฉูดฉาดคมชัดน่าสนใจเนื่องจากเป็นของใหม่ มีรูปลักษณะของงาน หรือพูดง่ายๆ คือ เนื้อหาที่นำเสนอตรงกับหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองที่มีมาก่อนหน้านี้ และวัตถุประสงค์ของงาน คือ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เพื่อมุ่งให้เห็นถึงสิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องในอดีตและจะไม่ทำให้กรณีนี้เกิดขึ้นอีก เห็นคตินิยม ขนบประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธาที่ประสานสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ
ทั้งนี้เนื่องจากศิลปินผู้สร้างเจตนาที่จะเสนอผลงานของตนต่อบุคคลร่วมสมัยเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ของสำนัก “ศิลปวัฒนธรรม” พยายามจะสกัดกระแสความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละยุคแต่ละสมัยออกมาได้จากหลักฐานศิลปกรรมประเภทต่างๆ แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการใช้ประกอบขยายความหลักฐานประเภทที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่นๆ เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้
ทั้งนี้ผมขอเสนอแนะทางกองบรรณาธิการเพิ่มเติมว่า ควรที่จะมีการนำภาพจิตรกรรมอื่นๆ ในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ มาใช้ประกอบบทความ เพราะมีประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทุกภาพเลย เนื่องจากทางสำนักศิลปวัฒนธรรมได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นเรื่องชนชั้นนำสยามในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเรื่องเกี่ยวกับศูนย์กลางราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ค่อนข้างสม่ำเสมอแทบจะทุกๆ เดือนอยู่แล้ว เพื่อที่จะให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้ว่าภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ที่พวกเขานั่งรถผ่านเสมอๆ เมื่อเข้าเมืองหลวงนั้นก็มีดีอยู่เช่นกัน
มีภาพประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สวยงามควรค่าแก่การศึกษาไม่แพ้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติตามวัดวาอาราม หรือแม้กระทั่งภาพจิตรกรรมตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ภายในวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ขึ้นเป็นภาพปกหนังสือเรียนภาษาไทยอยู่หลายครั้ง ซึ่งพวกเขาได้เห็นบ่อยจนชินตาอยู่แล้ว (แม้จะไม่อ่าน แต่ก็เปิดดูภาพก็ยังดี)
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางเรื่องราวอาจได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวันนี้ และอาจบกพร่องหรือผิดพลาดได้ในวันพรุ่งนี้ เมื่อมีการตีความใหม่ที่ดีกว่า หรือพบหลักฐานใหม่ที่ทำให้เกิดความถูกต้องกว่า ดังนั้น จึงไม่สมควรยึดถืออย่างหนึ่งอย่างใดว่าถูกต้องตายตัว ต้องเปิดช่องสำหรับข้อมูลใหม่ และการตีความที่ใหม่กว่าเสมอ กระทั่งแนวทางของบทความวิชาการทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยทุกวันนี้ก็อาจจะล้าสมัยได้เมื่อมีแนวทางอื่นที่ดีกว่า
ดังนั้นจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวที่ปรากฏอยู่ทุกวันควบคู่กันไปด้วย ซึ่งสำนัก “ศิลปวัฒนธรรม” ก็ได้พยายามที่จะเดินตามรอยเส้นทางหนึ่งของการแสวงหาหลักฐานใหม่ๆ มาเรียบเรียงและประดับบัญชรของหน้านิตยสารเพื่อถ่ายทอดสู่ผู้อ่านตลอดมาอยู่แล้ว จิตรกรรมในอาคารภาพปริทัศน์จึงเป็นดังที่กล่าวมา