พระเมรุมาศ และ เทวราชา

ปรางค์ประธาน วัดไชยวัฒนาราม เสมือนพระเมรุมาศ แวดล้อมด้วยสิ่งก่อสร้างบริวาร

พระเมรุมาศ สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ด้วยฐานันดรสูงสุด เรียกอย่างสามัญว่าปราสาทยอด (เรียกตามศัพท์ว่า กูฏาคาร)

พระเมรุมาศแวดล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบริวาร เปรียบกับวัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีเจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัด เสมือนเป็นพระเมรุมาศ เทียบกับภูเขาพระสุเมรุ มีบริเวณกั้นรอบขอบเขตด้วยระเบียงคด คดคือมุมทั้งสี่ของระเบียง ก่อแทรกไว้ด้วยเมรุ เรียกว่าเมรุประจำมุม ตอนกลางของระเบียงทั้ง ๔ ด้าน แทรกด้วยเมรุประจำทิศ เมรุทั้งแปด เสมือนภูเขาสัตบริภัณฑ์เป็นบริวาร ล้อมรอบภูเขาพระสุเมรุ

Advertisement

เทวราชา สมมุติเทวราชา โลกทรรศน์ไทยโบราณ ปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ มีที่กล่าวถึงภูเขาพระสุเมรุคือแกนของจักรวาล สูงพ้นน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ (๑โยชน์ เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร) ภูเขาพระสุเมรุจึงสูง ๑,๓๔๔,๐๐๐ กิโลเมตร ศูนย์กลางจักรวาลอยู่บนยอดภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของเทวราชา-พระอินทร์คติสมมุติเทวราชาของไทย

นอกจากเทียบกับพระมหากษัตริย์กับพระนารายณ์แล้ว ยังเทียบกับพระอินทร์ซึ่งอุปถัมภ์ค้ำจุนพุทธศาสนา ตรงกับพระราชภารกิจหลักของพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเช่นสมมุติเทวราชา ประทับ ณ ศูนย์กลางพระราชอาณาจักรของพระองค์ เสมือนประทับ ณ ศูนย์กลางจักรวาลบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

คำกล่าวที่ว่า ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย คงหมายถึงส่งเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งอยู่บนยอดภูเขาพระสุเมรุโดยจำลองเป็นพระเมรุมาศ หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระอินทร์อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ขึ้นไปประดิษฐานในเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


สามารถอ่านเพิ่มเติมข้อมูล “พระเมรุมาศ เทวราชา  พระโพธิสัตว์-พระอนาคตพุทธเจ้า” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เดือนตุลาคม 2560