ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่ามกลางเครื่องดนตรีไทยที่มีอยู่มากมาย “ซอสามสาย” เป็นเครื่องดนตรีประเภทใช้คันสี ที่มีคุณค่าทางศิลปหัตถกรรมที่สุด งามวิจิตรในรูปทรงและบันลือเสียงได้ไพเราะ ทาบเสียงเข้ากับการขับร้องลำนำได้อย่างสนิทสนมกลมกลืนและเป็นเครื่องดนตรีที่ีมีเสียงใกล้เคียงกับเสียงมนุษย์มากที่สุดหาเสียงของเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ยาก
โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คได้จัดงานสยามวิจิตรครั้งที่ ๓ ขึ้น ในหัวเรื่อง “ซอประวัติศาสตร์” โดยเชิญ ร.ศ.อุดม อรุณรัตน์ อาจารย์สอนดนตรีไทยคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คิดค้นหาลู่ทางสร้างกะโหลกซอสามสายแบบโบราณให้บันลือเสียงไพเราะเสนาะโสตเหมือนเสียงซอสามสายที่เล่นกันอยู่ในพระราชสำนักเมื่อหลายร้อยปีล่วงมาแล้ว
ตัวสำคัญที่ทำให้ซอสามสายกำธรเสียงได้ไพเราะอยู่ที่กะโหลกซึ่งเป็นอินทรีย์ของกะลามะพร้าว ด้านล่างเป็นรูปเหลี่ยมนูนเป็นพูเรียกว่า พูสามเส้า ซึ่งพูสามเส้านี้มีที่มาสองทางด้วยกันคือ ได้จากกะลาธรรมชาติและกะลาดัด
กรรมวิธีผลิตกะโหลกซอต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ในแขนงของชีววิทยา ชีวเคมี และฟิสิกส์เข้าช่วยสร้างน้ำยาที่ทำให้กะลาอ่อนตัวและกำหนดกระสวนปริมาตรของกะโหลกให้กำธรเสียงเหมือนกะโหลกซอสามสายของโบราณ โดยดัดกะลาให้เกิดพูที่สามารถโฟกัสเสียงให้สะท้อนกลับไปสู่ผิวหน้ากะโหลกซอได้อย่างเหมาะสม เมื่อดัดกะลาได้แล้วก็ดำเนินการจนสามารถสร้างซอได้สำเร็จ
อาจารย์อุดมได้เทียบเสียงซอสามสายธรรมดาและซอสามสายกะลาดัดให้ฟัง เสียงซอกะลาดัดมีความไพเราะและดังกังวานกว่าซอสามสายธรรมดามาก
ซอสามสายที่สร้างขึ้นใหม่นี้ทำมาจากไม้ชิงชัน และนับเป็นซอสามสายคันแรกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่กะโหลกใช้กะลาดัดเช่นเดียวกับซอสามสายที่สร้างขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย