“เนินพลูโต” พื้นที่เล็กๆ ในร่างกาย ทำไมเป็นตัวแทนจิตใต้สำนึกบ่งชี้ชีวิต-ความตาย

Pluto และ Proserpina
ภาพประกอบเนื้อหา Pluto และ Proserpina

เนินพลูโต เป็นเนินที่อยู่ระหว่างเนินจันทรากับเส้นกำไลข้อมือ (bracelets) เป็นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของเนินจันทรา (โปรดดูภาพ) เป็นเนินที่เป็นตัวแทนหรือตัวบอกความเป็นไปของจิตใต้สำนึก (subconscious mind) บ่งชี้ชีวิต ความตาย และการเกิดใหม่ เป็นเนินแห่งคลังของอดีตหรือองค์ความรู้โบราณเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เวทมนต์คาถาและภพชาติ รูปทรงของเนินที่พัฒนาดี หรือพัฒนาล้นเกิน หรือมีลักษณะแฟบบาง ล้วนบอกบุคลิกภาพของเจ้าของเนินอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ขอให้รู้จัก เทพพลูโต โดยย่อๆ ดังนี้ครับ

เนินพลูโต
เนินพลูโต

เป็นเทพที่ปกครองยมโลกทั้งหมด มีศักดิ์เป็นพี่ชายของมหาเทพจูปิเตอร์ เมื่อมหาเทพปราบกลุ่มเทพไทแทนลงได้แล้ว เทพพลูโต มีความชอบได้ครองยมโลก อาณาจักรใต้หล้าบาดาล ซึ่งเป็นโลกมืด และเทพพลูโตก็มิได้มีเทวีองค์ใดผูกพันปฏิพัทธ์เป็นคู่ เทพพลูโตจึงเป็นโสดโดดเดี่ยวมาช้านาน

Advertisement

วันหนึ่งเทวีพรอสเซอร์พินีซึ่งเป็นธิดาของจูปิเตอร์เกิดแต่เทวีดีมิเตอร์ เทวีแห่งการเกษตร ได้ชวนเพื่อนๆ ลงเที่ยวชมดอกไม้เป็นที่สำราญใจ บังเอิญเวลานั้นเทพพลูโตจรมา ได้พบเทวีแรกรุ่นสาวก็มีใจรักและไม่รอช้าเข้าชิงอุ้มเทวีพรอสเซอร์พินีทันที มิไยว่าเทวีจะตกใจเพียงใด เมื่อรถทรงเทพพลูโตผ่านแม่น้ำไซเอนี เทวีก็ฝากสายรัดองค์ไว้กับนางเทพอัปสรประจำแม่น้ำเป็นการส่งข่าวถึงพระมารดา

เทวีดีมิเตอร์ตามหาพระธิดาไปตามที่ต่างๆ มากมายหลายแห่ง แต่ก็ไม่พบ ทรงเศร้าพระทัยนัก วันหนึ่งทรงจรเลียบฝั่งแม่น้ำไซเอนี ก็ได้พบรัดองค์ของพระธิดา และได้รู้ข่าวเทพอัปสรอีกนางหนึ่งว่า พระธิดาของเทวีถูกเทพพลูโตลักพาตัวไปยังยมโลก เทวีดีมิเตอร์จึงนำความไปฟ้องมหาเทพจูปิเตอร์ มหาเทพอนุโลมตามคำฟ้องและตัดสินความบนเงื่อนไขว่า ระหว่างที่พระธิดาอยู่ยมโลกนั้นช่วงที่เทพพลูโตลักพามา หากเทวีพรอสเซอร์พินีเศร้าโศกมากไม่เสวยสิ่งใดเลยก็ให้เทพพลูโตส่งเทวีคืนพระมารดาดีมิเตอร์เสียในทันที

ความจริงก็คือ ระหว่างนั้นเทวีแห่งยมโลกได้เสวยทับทิมทิพย์ไป 6 เมล็ด จึงได้ข้อยุติว่า เทวีจะต้องอยู่กับเทพพลูโตผู้เป็นภัสดา 6 เดือน และอยู่กับพระมารดาอีก 6 เดือน ช่วงเทวีอยู่กับพระมารดานั้นเป็นช่วงวสันตฤดูและคิมหันตฤดูอันสวยสดงดงาม แต่ต้องกลับไปอยู่กับภัสดาในช่วงฤดูเหมันต์ที่ไร้พืชพันธุ์ มีแต่ความเยือกเย็นเหน็บหนาวเศร้าหมอง ชาวกรีกเชื่อเช่นนี้

คราวนี้มาดูลักษณะเนินพลูโต ซึ่งมี 3 ลักษณะ คือ พัฒนามาดี พัฒนาล้นเกิน และแฟบบาง

เนินพลูโตพัฒนามาดี มีความหมายว่า มีพลังจินตนาการและเชี่ยวชาญการเวทมนตร์ (occult) ต่างๆ ส่วนเนินพลูโตที่พัฒนาล้นเกินนั้น ค่อนข้างหายาก บ่งชี้ว่าเป็นคนสนใจเรื่องลึกลับ ทรงเจ้าเข้าผี เป็นคนมีลูกเล่นเล่ห์กล หรือแก๊กต่างๆ ชนิดแยบยลเยอะ สนใจกิจกรรมความลับหรือสปายสายลับทุกรูปแบบ เป็นคนประเภทร่ำรวยจินตนาการ และมีเซ็กซ์แฟนตาซีมาก

เนินพลูโต
เครื่องหมายและมาร์กต่างๆ บนเนินพลูโต

เนินพลูโตที่แฟบบาง บ่งชี้ว่าเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ดี ไม่สนใจเวทมนตร์และการทรงเจ้าเข้าผี

เครื่องหมายและมาร์กบนเนินพลูโต มี 4 แบบ

1. รูปสามเหลี่ยม บ่งชี้พลังจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในมิติของเวทมนตร์คาถา

2. รูปตะแกรง บ่งชี้ความสามารถเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีหรือวิถีแห่งม้าทรง แต่ต้องการพัฒนาความรู้สึกเป็นปึกแผ่นในจิตใจ

3. มีเส้นบันดาลใจพาดผ่าน บ่งชี้ความเป็นม้าทรงหรือคนทรงเจ้าสมบูรณ์แบบ

4. มีเส้นบันดาลใจกับมีวงแหวนโซโลมอน (the Ring of Solomon) มีกากบาทกลางที่ราบอังคาร (กลางฝ่ามือ) เนินพลูโตสูงพอๆ กับเนินเนปจูน ถือว่าเป็นมือเวทมนตร์ หรือมือคนทรงเจ้าขนานแท้

จากประวัติย่อๆ ของเทพพลูโต พอมองเห็นว่าเทพพลูโตเป็นสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างไปในเชิงลบในความลึกลับเวทมนตร์ ความฝันเฟื่อง รักๆ ใคร่ๆ เชิงช่วงชิงหักหาญน้ำใจผู้อื่น ส่วนในเชิงบวกก็คือความสามารถในเรื่องของจารกรรมและกิจกรรมแห่งราชการลับทั้งหลาย

โปรดตอบคำถาม 5 ข้อต่อไปนี้

1. คุณเชื่อเรื่องทรงเจ้าเข้าผีหรือไม่

2. คนสนใจเรื่องราวของสปาย สายลับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หนังสือ หรือหนังละครใช่หรือไม่

3. เรื่องราวประเภทรักจี๋หวานเจี๊ยบ เป็นเรื่องราวต้นๆ ที่คุณสนใจ

4. เพื่อนฝูงมักยกตำแหน่งให้คุณเป็นผู้ร่ำรวยจินตนาการ หรือเศรษฐีความฝัน

5. คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คุณเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าคุณตอบว่าใช่ทุกข้อ คุณมีจิตใจ หรือนิสัยหรือบุคลิกภาพแบบพลูโตเต็มๆ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เนินพลูโต” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2560