” สแกนกายพระโลเกศวรเปล่งรัศมี กับ ขุมพระโลมาแห่งอจินไตยและความหลุดพ้น”

ในประเทศไทย และ กัมพูชามีการค้นพบรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี ทั้งที่สลักจากหินทรายทั้งที่เป็นรูปเต็มองค์ เหลือเพียงเศียรหรือองค์รวมกันแล้ว ๑๙ องค์ และสัมฤทธิ์ ซึ่งพบน้อยกว่าเพียง ๓ องค์แต่อยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า (Woodward 1994, 109 – 110)

พระโลเกศวรเปล่งรัศมีทุกองค์ล้วนมีลักษณะร่วมกัน คือ ทรงมีแปดกร พระวรกายท่อนบนจนถึงมุ่นพระเกศาเต็มไปด้วยรูปพระตถาคตองค์จิ๋ว พระอุระปรากฏรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกรประทับสมาธิราบ ๑ องค์ และรอบพระโสณีเหมือนกันอีก ๘ องค์ นิ้วพระบาทสวมพระธำมรงค์ (แหวน) รูปพระตถาคต

แต่ที่สำคัญก็คือพระโลเกศวรเปล่งรัศมีทุกองค์ ล้วนมีเค้าพระพักตร์ เหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชแห่งกัมพูชา ผู้ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิตันตรยาน เห็นได้จากพระเนตรหรี่ลงจนเกือบปิดและแย้มพระสรวลด้วย “รอยยิ้มแบบบายน” แสดงถึงพระกรุณาของพระองค์เฉกเช่นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกรุณา

พระโลเกศวรเปล่งรัศมีจากปราสาทเมืองสิงห์ ศาสนสถานประจำเมือง “ชยสิงหปุระ” ที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นองค์ที่สร้างจากหินทรายซึ่งคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งที่พบในประเทศไทย

พระกรทั้งแปดหากไม่หักหายไปจะทรงถือสิ่งของ คือ จากพระหัตถ์ขวาล่างขึ้นไป ได้แก่ พระนางษฑักษรีมหาวิทยา คัมภีร์ ขอช้าง และวัชระ จากพระหัตถ์ซ้ายบนลงมา ได้แก่ จักร สายประคำ หม้อน้ำอมฤต และพระขรรค์ ตามลำดับ โดยพิจารณาจากสิ่งของในพระหัตถ์ของพระโลเกศวรแปดกรบนผนังระเบียงคดของปราสาทบันทายฉมาร์ ประเทศกัมพูชา (Boisselier 2008, 317 – 318)

และรูปพระโลเกศวรสัมฤทธิ์จากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร (Woodward 1997, 83)

และจากประเทศกัมพูชา (Jessup and Źephir 1997, 313: cat.97) ซึ่งพระหัตถ์และสิ่งของอยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า

อนึ่ง พระโลเกศวรเปล่งรัศมีจากปราสาทเมืองสิงห์น่าจะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น เพราะพระพักตร์และการ
แกะสลักพระวรกาย ดูอ่อนละมุนน้อยกว่าองค์ที่พบในนครธม (Jessup and Źephir 1997, 315: cat.
98) จึงไม่น่าจะใช่รูป “พระชัยพุทธมหานาถ” ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงส่งมาพระราชทานให้กับบรรดาเมืองภายใต้พระราชอำนาจทั้ง ๒๓ แห่งของพระองค์ อันรวมถึงชยสิงหปุระหรือเมืองสิงห์ดังกล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์  (ดูรายละเอียดใน Woodward 1997, 105 – 109)

“โลเกศวร” เป็นพระนามที่จารึกเขมรใช้เรียกพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในฐานะที่ทรงเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งโลก (เจ้าโลก) เช่นเดียวกับพระอิศวรอันเป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ พระโลเกศวรเปล่งรัศมีสร้างขึ้นตามคัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ของลัทธิมหายาน-ตันตรยาน ซึ่งยกระดับพระองค์เทียบกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เป็น “พุทธ-อิศวร” และสาธยายถึงพระอานุภาพของพระองค์ในหลายรูปแบบ (ดูรายละเอียดใน Studholme 2002, 40 – 41, 52, 59) เช่น ทรงปรากฏพระองค์ในรูปแบบสิบเอ็ดเศียร พันเนตร และพันกร ทรงเปล่งพระรัศมีพวยพุ่งออกมาจากยมโลก ทรงปลดปล่อยแม่น้ำไวตราณี ทั้ง ๑๐ สายในนรก ออกจากนิ้วพระหัตถ์และพระบาทเพื่อดับกระหายของเหล่าเปรต บรรดาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ทั้งพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ก็ล้วนอุบัติจากองคาพยพของพระองค์

ที่คัมภีร์ดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับพระโลเกศวรเปล่งรัศมีคือข้อความที่กล่าวว่าขุมพระโลมา(ขุมขน) ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรล้วนบรรจุนานาสรรพสิ่ง รวมถึงพุทธเกษตร คือ สวรรค์ของพระตถาคตแต่ละพระองค์ที่มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน อันแทนด้วยรูปพระตถาคตประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ตามพระวรกาย แม้พระบาทก็ทรงสวมพระธำมรงค์รูปพระตถาคต เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์เหนือปวงพระตถาคต ดังสาธยายไว้ในคัมภีร์ดังกล่าวว่าพระรัศมีของบรรดาพระตถาคตมิอาจเทียบได้กับพระรัศมีอันเรืองรองของพระอวโลกิเตศวร (Studholme 2002, 46)

รูปพระโลเกศวรเปล่งรัศมีของกัมพูชายังเชื่อมโยงได้กับมนตร์ ๖ พยางค์ หรือมนตร์ “ษฑักษรีมหาวิทยา” ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร อันได้แก่ โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ อันมีความหมายว่า “ข้าพเจ้าอยู่ในดอกบัวเพชรพลอย” (Studholme 2002, 116) มีพระนางษฑักษรีมหาวิทยาเป็นตัวแทนของมนตร์ (Studholme 2002, 74) ดังปรากฏรูปของพระนางเป็นรูปสี่กรสอดคล้องกับคัมภีร์ประทับในพระหัตถ์ขวาล่างสุดของรูปพระโลเกศวรเปล่งรัศมีสัมฤทธิ์ รูปสลักบนผนังระเบียงคดของปราสาทบันทายฉมาร์ (Sharrock 2015, 3) และมีอยู่รูปหนึ่งเป็นรูป

พระโลเกศวรหกกรที่เบื้องหลังแสดงรูปของพระนางเรียงเป็นวงรัศมีของประภามณฑลซ้อนกัน ๖ ชั้น แทนจำนวนพยางค์ทั้ง ๖ ของมนตร์นี้ (Sharrock 2015, 73, 74) นับถือกันว่าเป็นมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดามนตร์ของลัทธิมหายาน-ตันตรยาน คัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ยกย่องว่ามนตร์นี้เทียบได้กับจำนวนพระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ หรือพระธรรมสังเขปจากทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ หรือเปรียบได้กับกำทั้ง ๑๒ ซี่ของธรรมจักรที่เคลื่อนไป และเป็นความรู้ที่ไม่อาจทำลาย (Studholme 2002, 72) กระทั่งบรรดาพระตถาคต พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ก็ทรงสวดมนตร์นี้

พระศากยมุนีทรงประกาศไว้ในคัมภีร์การัณฑวยหสูตร ว่าผู้ใดก็ตามที่สาธยายมนตร์อันเปรียบได้กับ “ปรมหฤทยา” คือ หัวใจหรือแก่นซึ่งรวมพระนามของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเข้าไว้ด้วยกัน จะได้ไปเกิดใหม่ในขุมพระโลมาของพระอวโลกิเตศวร ยุติการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แต่จะท่องเที่ยวไปในระหว่างขุมพระโลมา หรืออีกนัยหนึ่งคือการท่องไปในพุทธเกษตรของพระตถาคตทั้งหลาย จนสิ้นสุดลงเมื่อบรรลุนิพพาน

สำหรับอุดมคติของลัทธิมหายานก็คือการได้ไปจุติใหม่ในดอกบัวที่อยู่บนสวรรค์สุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภะและยังเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เมื่อได้ฟังธรรมจากพระตถาคตพระองค์นั้นก็จะน้อมนำไปสู่ความหลุดพ้นในที่สุด เช่นกัน นับว่าสอดคล้องกับความหมายของมนตร์ที่สื่อถึงการไปจุติใหม่ในดอกบัวอันทำจากเพชรพลอยได้เป็นอย่างดี (ดูรายละเอียดใน Studholme 2002, 47, 108, 115 – 116)

ส่วนรูปพระนางปรัชญาปารมิตาประทับเรียงกัน ๘ องค์รอบพระโสณีของพระโลเกศวรเปล่งรัศมี น่าจะสื่อความหมายถึงคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา ฉบับพิสดารทั้ง ๘ คัมภีร์ที่พระศากยมุนีทรงนำมาเปิดเผยและแสดงเฉพาะพระโพธิสัตว์ อีก ๑ องค์บนพระอุระน่าจะหมายถึงคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา หฤทยา หรือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา ฉบับย่อ ที่บรรจุสาระสำคัญอันเทียบได้กับ “หัวใจพระคาถา” ของคัมภีร์ฉบับพิสดารเอาไว้ สอดคล้องกับตำแหน่งของพระนางปรัชญาปารมิตาบนที่หน้าพระอุระ (หฤทยา) ของพระโลเกศวรเปล่งรัศมี น่าสนใจที่คำว่า “ปรัชญาปารมิตา” (ผู้มีบารมีคือ ปัญญา) ก็มีจำนวน ๖ พยางค์เท่ากับมนตร์ โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ และบารมี ๖ ของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวถึงเสมอในคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร (Studholme 2002, 87)

คัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ยังกล่าวว่าการท่องมนตร์ษฑักษรีมหาวิทยาจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๖ ประการ (Studholme 2002, 87) และทำลายอวิชชา มนตร์ษฑักษรีมหาวิทยาจึงเปรียบได้กับมารดาของพระนางปรัชญา ปารมิตา พระชนนีของพระตถาคตทั้งปวงซึ่งล้วนอุบัติจากพระนาง

กล่าวคือ ทรงเปรียบได้กับปัญญาที่นำพาไปสู่การตรัสรู้ จึงเป็นมนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพระนางและบรรดาพระตถาคต (Studholme 2002, 91) ดังเห็นได้จากรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสิบเอ็ดเศียร
สิบกร กำลังถวายนมัสการพระโลเกศวรหกกรบนผนังระเบียงคดปราสาทบันทายฉมาร์ (Sharrock 2015, 73, 74) รูปพระโลเกศวรเปล่งรัศมีในศิลปะกัมพูชาจึงเป็นสัญลักษณ์ของมนตร์ษฑักษรีมหาวิทยา ที่รวมของสรรพวิทยาที่นำพาไปสู่ความหลุดพ้นอันรวมไปถึงคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา อันแสดงออกด้วยรูปพระนางปรัชญาปารมิตาบนพระวรกายของพระโลเกศวรเปล่งรัศมี

นอกจากนี้ การที่รูปพระโลเกศวรเปล่งรัศมีทุกองค์มีพระพักตร์เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาจแสดงถึง
ความเลื่อมใสในพระองค์ที่ทรงมีต่อคัมภีร์การัณฑวยูหสูตร อย่างแน่นแฟ้น เพื่อทรงผนวกความยิ่งใหญ่ของพระองค์เองเข้ากับความยิ่งใหญ่ของพระโลเกศวรเปล่งรัศมีที่สาธยายไว้ในคัมภีร์ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “ภาค” หรือ “อวตาร” หนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

(ในลักษณะเดียวกับทะไลลามะของธิเบตที่เชื่อกันว่าทรงเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์องค์นี้) เพราะไม่เพียงแต่รูปพระโลเกศวรเปล่งรัศมีที่มีพระพักตร์เหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่านั้น แต่มีรูปเคารพอีกเป็นจำนวนมากที่มีพระพักตร์เหมือนกับพระองค์ เช่น พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง พระโลเกศวรสี่กร
พระวัชริน (เหวัชระ) หรือแม้กระทั่งพระนางปรัชญาปารมิตาผู้เป็นสตรีก็มีพระพักตร์คล้ายกับพระองค์

เมื่อพิจารณาบทบาทของคัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ที่มีต่อพุทธศิลป์ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้ว ย่อมมีความเป็นไปได้ที่การแสดงพระพักตร์ของพระองค์บนพระพักตร์ของรูปเคารพในพุทธศิลป์ของลัทธิตันตรยานในรัชกาลของพระองค์ คงเชื่อมโยงกับพระอานุภาพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคัมภีร์การัณฑวยูหสูตร ที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่าอาจทรงปรากฏพระองค์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทั้งในรูปของพระตถาคต พระปัจเจกพุทธะ พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ นาค ยักษา พระราชา เสนาบดี มารดาและบิดา (Studholme 2002, 44)

ด้วยเหตุนี้ รูปเคารพซึ่งมีเค้าพระพักตร์เฉกเช่นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงเป็นปรากฏการณ์ของพระองค์ในฐานะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผ่านรูปเคารพในลัทธิตันตรยานที่มีความแตกต่างกันทั้งรูปลักษณ์และคุณสมบัติ เพื่อทรงยังความหลุดพ้นทางร่างกายและจิตวิญญาณให้กับพสกนิกรของพระองค์ด้วยพระกรุณา เฉกเช่นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงยังความหลุดพ้นให้แก่สรรพสัตว์ด้วยความกรุณาตามอุดมคติของลัทธิมหายานมาแต่เดิม

บรรณานุกรม

1. Boisselier, Jean. 2008. Studies on the Art of Ancient Cambodia. Translation by Natasha
Eilenberg and Robert L. Brown. Phnom Penh: Reyum.

2. Jessup, Helen Ibbitson and Źephir, Thierry (Edited). 1997. Sculpture of Angkor and Ancient Cambodia: Millennium of Glory. Washington: National Gallery of Art.

3. Sharrock, Peter D. 2015. Banteay Chhmar. Bangkok: River Books.

4. Studholme, Alexander. 2002. The Origin of Oṃ Maṇipadme Hūṃ A Study of the
Kāraṇḍvayūha Sūtra.New York: State Universityof New Press.

5. Woodward, Hiram W. 1997. The Sacred Sculpture of Thailand. Bangkok: River Books.

 

ขอบพระคุณเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ และติดตามข่าวสารได้ใน https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom