สถาปัตยกรรมที่หายไป… บันทึกไว้ในจิตรกรรมวัดราชประดิษฐ ตอน “ปราสาทเทวรูป”

ในจิตรกรรมภาพพระราชกุศลถวายสลากภัต อันเป็นส่วนหนึ่งของภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ มีภาพสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังอยู่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏแล้วในทุกวันนี้ ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ ระหว่างภาพพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทและพระพุทธมณเฑียรองค์ใต้

คือ ภาพยอดปรางค์สีเทาหม่นๆ ที่มีหน้าบันและซุ้มบันแถลงตามชั้นเชิงกลอนจนถึงยอดปรางค์ที่ดูเหมือนซุ้มประตูพระบรมมหาราชวัง แต่อันที่จริงแล้วคือยอดของ “ปราสาทเทวรูป” ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างเป็นปราสาทน้อย นอกกำแพงแก้วบริเวณพระพุทธมณเฑียรด้านทิศตะวันออก ในสวนที่ทรงปลูกพรรณไม้ดอกจากต่างประเทศ เพื่อประดิษฐานเทวรูปแก้วผลึก สูง ๑๕ นิ้ว สำหรับเป็นเทพารักษ์สำหรับรักษาพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน (ทิพากรวงศ์ฯ ๒๕๔๗, ๓๓๔)

แม้จะสร้างในรัชกาลที่ ๔ แต่ปราสาทเทวรูปก็เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน บุคคลร่วมสมัยอย่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงเข้าพระทัยว่า คือ “ปราสาทพระรูป” ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ – ๔ ดังนี้

“นึกขึ้นมาได้ว่ามีปราสาทยอดปรางค์องค์หนึ่งอยู่ริมทางระหว่างพระพุทธรัตนสถานไปพระกุฏิ (หมายถึงพระที่นั่งทรงผนวช) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระผนวชเคยขึ้นไปเล่นไปนอนบนนั้น เป็นปราสาทที่ยังทำค้างยังไม่เสร็จ พื้นเป็นฝุ่นๆ เอาเตียงเหล็กพับขึ้นไปนอน…ดูเหมือนจะเรียกปราสาทพระรูป ถ้าข้อความนี้มิใช่ละเมอจะต้องเป็นการแน่ว่าพระราชดำริเดิมจะไว้พระบรมรูปที่นั้น หากเป็นที่ข้างในไม่สะดวกที่ข้าราชการจะเข้าถวายบังคม จึงสร้างพระที่นั่งศิวาลัยขึ้นเป็นที่ไว้ใหม่ ปราสาทเก่านั้นก็รื้อทิ้งไป” (แน่งน้อย ไขแสง และผุสดี ๒๕๓๑, เล่ม ๑: น. ๑๗๖)

ข้อมูลที่ทรงอธิบายไว้ทั้งปราสาทยอดปรางค์ ตำแหน่งที่ตั้งระหว่างพุทธรัตนสถานและพระที่นั่งทรงพระผนวช ตรงกับข้อมูลข้างต้นที่กล่าวถึงปราสาทเทวรูปของรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง

ภาพถ่ายโบราณงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ. ๒๔๒๓ และงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถ่ายติดปราสาทเทวรูปในตำแหน่งทิศเหนือของพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และทิศตะวันออกหน้าพระพุทธรัตนสถาน ลักษณะคล้ายกับศาลหลักเมืองยอดปรางค์หลังเก่าของกรุงเทพมหานคร คือ เป็นปราสาทจัตุรมุขขนาดเล็ก หลังคาซ้อน ๒ ชั้น ตับหลังคา ๒ ชั้น มีไขราเป็นเสาอิงรองรับยอดปรางค์ (Bautze 2016, 138, 220)

ปราสาทเทวรูปถูกรื้อลงในรัชกาลที่ ๕ แต่ไม่ทราบว่าปีใด โดยสร้างเป็นหอทรงโรงนามว่า “หอแก้ว” ขึ้นแทน จนกระทั่งมีการต่อเติมพระที่นั่งบรมพิมานในรัชกาลที่ ๙ ทำให้ต้องรื้อหอแก้วเดิม ย้ายไปสร้างใหม่ริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก (แน่งน้อย ไขแสง และผุสดี ๒๕๓๑, เล่ม ๑: น. ๑๗๕)

ปราสาทเทวรูปจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับการเขียนภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนวัดราชประดิษฐ (จนทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร) เอาใจใส่กับสถานที่ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ แม้จะเป็นสถานที่เล็กๆ และท้ายที่สุดก็ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยก็ตาม

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ใน http://www.finearts.cmu.ac.th/upload/57/pitchaya_ratchapradit.pdf


บรรณานุกรม

๑. ทิพากรวงศ์ฯ, เจ้าพระยา. ๒๕๔๗. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค). พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ.

๒. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. ๒๕๓๑. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง. ๒ เล่ม. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ.

๓. Bautze, Joachim K. 2016. Unseen Siam Early Photography 1860 – 1910. Bangkok: River Books.

——————————

© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom

ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา เชิงอรรถ บรรณานุกรมหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ

และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด