ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยคนนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้น ที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า—”
เป็นพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสกับหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ที่เรียกกันในครอบครัวว่าหญิงเหลือ พระธิดาซึ่งมีหน้าที่บริหารเงินค่าใช้จ่ายที่บ้านซินนามอนฮอลล์ ปีนัง ครั้งที่มีพระประสงค์จะซื้อหนังสือเล่มหนึ่งในขณะที่ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวกำลังขัดสน
ภาวะขัดสนทางเศรษฐกิจของหัวหน้าราชสกุลดิศกุล เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพา
ครอบครัวส่วนหนึ่งไปประทับที่ปีนังหลังจากที่คณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้พยายามปราบปรามผู้ที่คาดว่าจะเป็นอันตรายกับรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีทั้งพระบารมีและผู้คนให้ความเคารพนับถือ จึงเป็นที่หวาดระแวงของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งได้พยายามบีบคั้นกดดันให้พระองค์พ้นจากราชการ แม้จะเป็นหน้าที่ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองแต่เป็นงานที่ทรงรักและผูกพัน คือ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรและนายกราชบัณฑิตยสภา เมื่อทรงพ้นจากราชการแล้วก็ยังทรงถูกตัดเบี้ยบำนาญซึ่งทรงเคยรับอยู่เดือนละ ๓,๖๐๐ บาท เหลือเพียง ๑,๕๐๐ บาท เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทั้งปวงดังที่ตรัสกับพระธิดาถึงพระดำริในการเสด็จไปประทับที่ปีนังว่า “—พ่อยังมีลูกศิษย์และเพื่อนฝูงทั่วพระราชอาณาจักร เขาไม่มาหาก็ดูเป็นอกตัญญู ถ้ามาก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเจ้า เราให้สุขเขาไม่ได้ก็อย่าให้ทุกข์เขา ไปเสียให้พ้นดีกว่า เราก็สบายเขาก็สบาย—”
ที่ปีนังทรงดำรงพระชนมชีพอย่างประหยัดมัธยัสถ์ตามภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวซึ่งค่อนข้างฝืดเคือง เพราะตลอดพระชนมชีพไม่ทรงเคยประกอบกิจการอื่นนอกจากรับราชการ เบี้ยบำนาญก็ถูกปรับลดลง
ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเหลือเพียงเดือนละ ๙๖๐ บาท เงินปีอันเป็นเงินพระราชทานปีละ ๖,๐๐๐ บาท เบี้ยหวัดของพระธิดาองค์ละ ๘๐ บาทต่อปี เฉลี่ยแล้วทั้งครอบครัวมีรายได้ตกเดือนละ ๑,๔๘๐ บาท ประมาณ ๖๔๐ เหรียญ จากเงินจำนวนนี้เองที่ต้องทรงดำเนินพระชนมชีพในแต่ละเดือน มีค่าเช่าบ้านซินนามอนฮอลล์เดือนละ ๑๑๐ เหรียญ นอกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสมาชิกในบ้าน ๑๖ คน คือ พระองค์ ๑ พระธิดา ๓ พระองค์ที่ทรงติดตามไปรับใช้ใกล้ชิด คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ผู้ตามเสด็จอีก ๕ คน คนรับใช้หญิง ๓ คน ชาย ๒ คน คนขับรถและคนทำสวนอีกอย่างละ ๑ คน
หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุทรงรับหน้าที่บริหารเงินค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว การใช้จ่ายเป็นไปอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ด้วยการปรับค่าใช้จ่ายที่จะทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เช่น เปลี่ยนโคมไฟฟ้าให้เล็กลง บอกเลิกโทรศัพท์และเตาไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า “—คิดดูค่ากินอยู่ปีนังถูกกว่าอยู่หัวหินเสียอีก และหาอะไรกินก็ไม่ยาก—” จึงสามารถที่จะทรงดำรงพระชนมชีพได้อย่างสบายและสมพระเกียรติ
ในส่วนพระองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างสงบและสมถะ จะไม่ทรงพบปะ
กับคนไทยที่เดินทางมาปีนังแม้จะเป็นคนรู้จักมักคุ้น แต่จะทรงต้อนรับหากผู้ใดจะเสด็จหรือมาหาพระองค์ยังที่ประทับ ทั้งนี้เพราะทรงตระหนักพระทัยดีว่ารัฐบาลไทยขณะนั้นยังคงระแวงพระองค์อยู่ จึงไม่ทรงปรารถนาจะนำความเดือดร้อนไปให้แก่ผู้ใด แม้จะทรงขัดสนปานใดก็มีพระขัตติยมานะ ครั้งหนึ่งมีผู้หวังดีล่วงรู้ถึงความลำบากขัดสนเรื่องค่าใช้จ่ายในการครองชีพและพระสุขภาพพลานามัย จึงจะพยายามช่วยเหลือให้ได้เสด็จกลับเมืองไทย แต่ทรงปฏิเสธความช่วยเหลือ ตรัสถึงเหตุผลว่า “—ฉันมีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย อายุถึงปูนนี้แล้ว เหตุใดจะเอาวันเหลือข้างหน้าอีก ๒-๓ วัน มาลบวันข้างหลัง
ที่ได้ทำมาแล้ว—”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในซินนามอนฮอลล์อ่านเขียนหนังสือบันทึกนิพนธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ทรงสนพระทัย ทรงมีความสุขกับการส่งพระหัตถเลขาโต้ตอบกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระอนุชาร่วมพระชนกซึ่งมีพระชนมายุไล่เลี่ยสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เพราะทรงสนพระทัยและพอพระทัยในเรื่องเดียวกันสิ่งเดียวกัน พระหัตถเลขาที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีโต้ตอบกันไปมา เป็นเสมือนการได้พูดคุยกันในสิ่งที่ทรงพอพระทัยมีความสุขทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งทรงถือเป็นกิจวัตรที่ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอไม่เคยขาดเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๙ ปี
พระหัตถเลขาโต้ตอบดังกล่าวมีเรื่องราวต่างๆ ทั้งความคิดเห็นส่วนพระองค์ที่เกิดจากประสบการณ์ในพระชนมชีพและค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ ในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านศิลปะ วรรณคดี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนโบราณคดีและประวัติศาสตร์
พระหัตถเลขาโต้ตอบที่ทรงนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือวิชาการที่ทรงคุณค่า ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันใช้เป็นหนังสือค้นคว้าอ้างอิงได้อย่างมั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน ในนามของหนังสือชื่อ “สาส์นสมเด็จ”
ในการที่ทรงพระนิพนธ์สาส์นสมเด็จนั้น บางครั้งต้องทรงค้นคว้าอ้างอิงจากหนังสือและเอกสารต่างๆ ทรงใช้ทั้งหนังสือที่ทรงนำไปจากเมืองไทยและหนังสือที่พระโอรสธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ พระญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งทราบถึงความโปรดปรานของพระองค์ พากันส่งหนังสือทั้งเก่าและใหม่มาถวายมาให้ทรงมิได้ขาด ด้วยเหตุนี้จึงไม่ทรงมีรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหนังสือต่างๆ แต่อย่างไร
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นต้นเหตุแห่งพระดำรัสข้างต้นนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย พระธิดา ทรงเล่าไว้ว่า “—วันหนึ่งเด็จพ่อท่านเสด็จไปพบหนังสือขายที่ร้านขายหนังสือเล่มหนึ่ง ราคา ๘ เหรียญ ท่านอยากทรง แต่เห็นว่าแพงเกินกำลัง ก็ยืนเปิดๆ ทอดพระเนตร แขกผู้ขายเข้าใจทูลว่า ‘เอาไปก่อนเถอะ จะใช้เงินเมื่อไรก็ได้’ ท่านก็เอามาตรัสบอกหญิงเหลือผู้เก็บเงินว่า ‘แขกมันเชื่อพ่อ เธอเอาไปใช้มันเสียทีนะ’ เวลานั้นกำลังจะสิ้นเดือน หญิงเหลือก็หัวเสียบ่นออกไปว่า ‘ดี ไม่กินละข้าว กินหนังสือแทน’ ท่านทำเป็นไม่ได้ยิน แล้วเสด็จออกไปจากห้อง สักครู่ใหญ่ๆ เสด็จกลับเข้ามา ตรัสว่า ‘จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยคนนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้น ที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า—’ เรานิ่ง ท่านก็ออกไปเขียนหนังสือต่อ—”
เมื่อพระธิดา ๓ พระองค์หายตกตะลึงแล้ว “—หญิงเหลือเขาลุกขึ้นคว้าเงินในลิ้นชักได้อีก ๑๒ เหรียญ เขาก็เอาออกไปส่งถวาย ว่ายังมีซื้อได้อีกเล่มหนึ่ง ท่านก็ทรงพระสรวลไม่ว่าอะไร ตามธรรมดาไม่ทรงเก็บเงินเอง ขอมีติดกระเป๋าเพียง ๑ เหรียญ เผื่อรถเสียจะได้กลับบ้าน—”
พระดำรัสดังกล่าวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แสดงอย่างชัดเจนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม ซึ่งตลอดพระชนมชีพของพระองค์ทรงทุ่มเทให้กับการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ รัชสมัย จงรักภักดีต่อผืนแผ่นดินไทย แม้เมื่อทรงมีอันต้องเสด็จไปประทับในต่างแดนอย่างลำบากยากแค้น แต่พระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทรงรักษาพระเกียรติยศและทุ่มเทพระสติปัญญาให้กับงานที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์จนตลอดพระชนมชีพ