กฎมณเฑียรบาล กับความสัมพันธ์ทางอินเดียใต้

เทวสถานศรีปัทมนาภสวามี (ถ่ายจากบาราย)

ความนำ

ใครๆ ยอมรับว่าพระพุทธศาสนาจากชมพูทวีปและลังกาทวีปมีส่วนสำคัญในการก่อรูปสังคมและวัฒนธรรมใน “สยามประเทศไทย” ผมยังเคยเสนอมานานแล้วว่า ศาสนาพราหมณ์/ฮินดูจากอินเดียใต้น่าจะมีส่วนสำคัญในการก่อรูปสังคมและวัฒนธรรมเช่นกัน, อย่างน้อยในระดับราชสำนักและราชการ ปัญหามีอยู่ว่า หลักฐานผูกมัดหาได้ยากมาก เพราะ

1. ประมาณ 500-600 ปีที่แล้วราชวงศ์ต่างๆ ในอินเดีย, แม้จะเป็นฮินดู, ก็เริ่มดำเนินชีวิตในราชสำนักเยี่ยงราชวงศ์โมกุล ซึ่งเป็นเชื้อสายมองโกลกลับใจมานับถือศาสนาอิสลาม, เรียนรู้วัฒนธรรมเปอร์เซีย, แล้วบุกรุกเข้ามาปกครองอินเดียเหนือ จนทุกวันนี้ดูเหมือนจะไม่มี “กฎมณเฑียรบาล” อย่างฮินดูเหลือให้ศึกษาในอินเดีย

Advertisement

2. ในยุคสมัยใหม่ (ตั้งแต่รัชกาลที่ 4) มีการเน้นพุทธศาสนาในขณะที่ลดความสำคัญของพราหมณ์/ฮินดู และไม่ค่อยศึกษาหลักฐานด้านนี้

3. ในปี 2541-2542 ผมพยายามวิเคราะห์พระราชพิธี 12 เดือน ตามที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล (ในกฎหมายตราสามดวง) [ดูศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 19 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2541)-ปีที่ 20 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2542)] งานของผมชิ้นนี้บกพร่องด้วยประการทั้งปวง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะผมขาดความรู้ด้านพระราชพิธีเขมรโบราณ, และสันนิษฐานลอยๆ มากไปโดยไม่มีหลักฐานรองรับเพียงพอ

คัมภีร์ตันตระว่าด้วยบูชาวิธี

ต่อมาผมต้องยอมรับว่าระเบียบการประกอบพระราชพิธี 12 เดือนของพราหมณ์พระราชพิธีสยามถูกลืมและความหมายถูกเข้าใจผิดมากต่อมากมาช้านานแล้ว ส่วนบทของกฎมณเฑียรบาลนั้นถูกคัดลอกผิดๆ ขาดๆ จนมีแต่คนรู้ลึกและทุกด้านมากกว่าผม ถึงจะตีความได้ให้กระจ่างและน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม แต่นั้นมาผมได้อ่านหนังสือ Sree Padmanabha Swamy Temple โดย Princess Gouri Lakshmi Bayi, Bharathiya Vidya Bhavan, Bombay, 1995 หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการประกอบพระราชพิธีในเทวสถานศรีปัทมนาภสวามี (พระนารายณ์บรรทมสินธุ์) ในกรุงติรุวานันตปุรัม, เมืองหลวงของราชอาณาจักร Travancore ในรัฐเกรละ (Kerala State) และเป็นเทพรักษาราชตระกูลมาแต่โบราณ

รัฐเกรละเป็นแคว้นลับแลสุดตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมอินเดีย, มีเทือกเขาสูงกั้นจึงไม่เคยถูกกองทัพมุสลิมบุกรุกและรักษาโบราณราชประเพณีพราหมณ์/ฮินดูได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ราชวงศ์นี้ยังอยู่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนโดยทั่วไป, และยังคุมเทวสถานศรีปัทมนาภสวามีเยี่ยง “วัดพระแก้ว” ไม่ให้ทรุดโทรม

ดังนั้น ผมกล้าเสนอว่า ข้อมูลในหนังสือดังกล่าวอาจจะช่วยให้เราเข้าใจเฉพาะคำบางคำในกฎมณเฑียรบาลที่แต่ก่อนตีความไม่ได้, ดังนี้

ความในกฎมณเฑียรบาล

มีอยู่ 2 ท่อนที่ผมสนใจ คือ

“อนึ่งพราหมณาจารยโยคีโภคีอาดารศรีวาจารพญารี ถ้าโทษกามฉินท์ สุราฉินท์ พินทุฉินท์ ทรัพยฉินท์ โจรฉินท์ โทรหฉินทกรรม เสพยสุราปาณาติบาต บรธาระกรรม ลักทรัพยท่าน คิดกระบถคดโทรห โทษทังนี้ตามหนักตามเบา คือไหมทวีคูน ไหมจัตุรคูนด้วยทองแดง ถ้าโทษตาย ให้เดดสังวาร เดดสายธุรำเสีย นิฤเทศไปต่างเมือง”

และ

“งานสมโพทสมุหะประธารทูลเผยใบศรี ญาณประกาษถวายสโลก อิศรรักษาถวายพร อินโทรตี อินทเภรี ศรีเกดตีฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก”

ผมขอสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คำที่เน้นดำนั้นน่าจะหมายถึงบรรดาเจ้าหน้าที่พนักงานประจำเทวสถานหลวงเสมอในอินเดียใต้โบราณและในกรุงศรีอยุธยา สุดท้ายจะยกหลักฐานจากเทวสถานศรีปัทมนาภสวามีดูว่า มันรองรับข้อเสนอของผมหรือไม่

พราหมณาจารย์ (โภคี) ทั้งสี่
เจ้าหน้าที่เทวสถาน

ข้อสันนิษฐาน

พราหมณาจารย คำนี้ไม่เป็นปัญหา, หมายถึงบรรดาพราหมณ์พระราชพิธีทั้งหลาย

โยคี น่าจะได้แก่นักพรต (ฤษี) ที่สละโลก, ถือพรหมจรรย์ไม่เสพโลกิยสุข

โภคี น่าจะหมายถึงพวกบริโภค คือนักบวชที่มีครอบครัว, ไม่ใช่โยคีนักพรต

อาดาร อาจจะเพี้ยนมาจากคำทมิฬโอดุวารฺ หมายถึงนักร้อง (ไม่ใช่พราหมณ์โดยวรรณะ) ที่มีหน้าที่ขับเพลงสรรเสริญเทพเจ้า

ญาณประกาษ (ถวายสโลก) อาจจะหมายถึงโอดุวารฺ

ศรีวาจาร ควรจะเป็น “ศิวาจารย์” หมายถึงบรรดาอาจารย์ที่คล่องคัมภีร์ศิวาคม ว่าด้วยบูชาวิถี (Ritual), และน่าจะตรงกับ

ขุนดนตรี ซึ่งเพี้ยนมาจาก “ตันตรี” หมายถึง ผู้รู้คัมภีร์ตันตระหรือศิวาคมนั่นเอง

พญารี อาจจะเพี้ยนมาจากปูชารี คือนักประกอบพิธีบูชาทั้งหลายทั้งปวง

ว่าโดยสรุปเบื้องต้น เราอาจจะแปลวลีนี้ทั้งหมดเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า “อนึ่งพราหมณาจารย์ทั้งหลาย, ไม่ว่าเป็นโยคีหรือโภคี, นักขับสวด, ศิวาจารย์ผู้รู้คัมภีร์อาคม/ตันตระ, พนักงานประกอบพิธีบูชาทั้งหลายทั้งปวง…”, หรือว่าอีกนัยคือ “พราหมณ์พระราชพิธี ฯลฯ ประจำเทวสถานหลวง…”

โยคีประจำเทวสถาน

หลักฐานจากอินเดียใต้

เทวสถานศรีปัทมนาภสวามีในกรุงติรุวานันตปุรัม (Tiruvanantapuram ในรัฐ Kerala) เป็น “วัดหลวง” ประจำราชตระกูล Travancore พระประธานคือพระนารายณ์บรรทมสินธุ์องค์มหึมา

เทวสถานมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดหลายสิบคน

เจ้าหน้าที่ที่สำคัญได้แก่

พราหมณาจารย์พระราชครู 4 ท่านที่ต่างเป็น “โภคี” คือครองเรือน มีทรัพย์สมบัติ, ต่างถือร่มใบตาลเยี่ยงพัดยศ

โยคี 2 ท่านมีหน้าที่นำสาธุชนในการรับประทาน “มงคล” คืออาหารที่ใช้สังเวยเทพเจ้าแล้ว

โอดุวารฺ นักขับเพลงสรรเสริญ (คนในภาพอยู่ประจำเทวสถานพระอิศวร, ไม่ใช่เทวสถานศรีปัทมนาภสวามี)

ตันตรี ผู้รู้คัมภีร์ตันตระและคุมพิธีบูชา โดยตีกลองให้จังหวะ

ตันตรีทั้งสี่

ความส่งท้าย

ที่เสนอมานี้ว่าบุคลากรพระราชพิธีที่กล่าวถึงในกฎมณเฑียรบาลตรงกับบุคลากรประจำเทวสถานหลวงในอินเดียนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ใครที่สนใจพระราชพิธีกรุงศรีอยุธยาอาจจะได้ความกระจ่างแน่ชัดกว่านี้ หากไปศึกษาหน้าที่บุคลากรประจำเทวสถานหลวงในอินเดียหรือเนปาลโดยตรง

โอดุวารฺ ชื่อญาณสัมพันธ์